แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ลำพังคำเบิกความของพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนพยานโจทก์ทั้งสองปากประกอบบันทึกการจับกุม ข้อเท็จจริงก็พอฟังได้แล้วว่า เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2536 ตรงตามวันเวลาที่โจทก์กล่าวในฟ้อง การที่ผู้เสียหายเบิกความถึงวันและเดือนที่เกิดเหตุถูกต้อง ผิดไปแต่เพียงเป็น พ.ศ. 2526 แทนที่จะเป็นพ.ศ. 2536 น่าจะเป็นเพราะความพลั้งเผลอหรือหลงลืม คำเบิกความของผู้เสียหายผิดไปเพียงเท่านี้ยังถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องอันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,339 ให้จำเลยคืนทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคาเป็นเงิน 10,000บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 339 วรรคหนึ่ง วางโทษจำคุก 6 ปี ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปีให้จำเลยคืนทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคาทั้งสิ้น 10,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ให้จำคุก 10 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยฎีกาว่าโจทก์ฟ้องว่า คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2536 แต่ในทางพิจารณาผู้เสียหายซึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2526 ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง และการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองเห็นว่า นอกจากคำเบิกความของผู้เสียหายแล้วโจทก์ยังมีสิบตำรวจเอกบุญเกิด ไปวันเสาร์ เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและร้อยตำรวจตรีเศกสันต์ บัณฑิตย์ พนักงานสอบสวนเบิกความประกอบด้วยโดยสิบตำรวจเอกบุญเกิดเบิกความว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2536เวลาประมาณ 23 นาฬิกา ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นสายตรวจอยู่กับพวกขณะที่ตรวจไปถึงศูนย์การค้านครหลวงได้ยินผู้เสียหายร้องเรียกให้คนช่วย จึงได้หยุดรถและสอบถามผู้เสียหายหลังจากนั้นได้ติดตามคนร้ายไปจนถึงร้านข้าวต้มวัชระ เมื่อไปถึงพบพลเมืองดีได้จับจำเลยไว้ผู้เสียหายได้ชี้ให้พยานจับจำเลยในข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วได้ทำบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.6 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2536มีข้อความว่า พฤติการณ์แห่งการจับกุมคือวันนี้ วันที่ 26 ธันวาคม2536 เวลา 23.35 นาฬิกา พยานกับพวกได้ออกตรวจท้องที่ที่รับผิดชอบเมื่อตรวจไปถึงศูนย์การค้านครหลวง ผู้เสียหายแจ้งว่ามีคนร้ายสองคนร่วมกันชิงทรัพย์สร้อยคอผู้เสียหาย คนร้ายได้หลบหนีไป จึงพากันออกติดตามจับจำเลยได้ ร้อยตำรวจตรีเศกสันต์เบิกความว่า เมื่อวันที่26 ธันวาคม 2536 เวลา 23.55 นาฬิกา สิบตำรวจเอกบุญเกิดได้จับจำเลยมาส่งให้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนนนท์ ในข้อหาว่าร่วมกันชิงทรัพย์ พร้อมทั้งได้พาผู้เสียหายและนำสร้อยคอทองคำที่ขาดอยู่ครึ่งเส้นมาให้ด้วย เห็นว่า ลำพังคำเบิกความของพยานบุคคลทั้งสองปากดังกล่าวประกอบบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.6ข้อเท็จจริงก็พอฟังได้ว่าเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2536ตรงตามวันเวลาที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ผู้เสียหายเบิกความถึงวันและเดือนที่เกิดเหตุถูกต้อง ผิดไปแต่เพียงเป็น พ.ศ. 2526 แทนที่จะเป็นพ.ศ. 2536 น่าจะเป็นเพราะความพลั้งเผลอหรือหลงลืม คำเบิกความของผู้เสียหายผิดไปเพียงเท่านี้ไม่ถึงกับจะฟังว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องอันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง
พิพากษายืน