คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2480/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกง ศาลชั้นต้นลงโทษฐานใช้เอกสารปลอม ยกฟ้องฐานฉ้อโกง คดีสำหรับโจทก์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 22 การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์โจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารปลอมให้หนักขึ้น ทั้งรับอุทธรณ์โจทก์ที่ขอให้ลงโทษฐานปลอมเอกสารซึ่งโจทก์มิได้ฟ้องและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้องในข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ก็ถือว่าปัญหาเกี่ยวกับข้อหาปลอมเอกสารและสมควรลงโทษหนักขึ้นในข้อหาใช้เอกสารปลอมหรือไม่นั้น มิได้ว่ากล่าวมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาโจทก์ในปัญหาดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268,341, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 ประกอบมาตรา 264 ลงโทษปรับ 2,000 บาท จำเลยไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 341, 91โดยมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษฐานปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ประกอบมาตรา 264 ปรับ 2,000 บาทยกฟ้องความผิดฐานฉ้อโกงคดีสำหรับโจทก์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 22 การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์โจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมให้หนักขึ้น ทั้งรับอุทธรณ์โจทก์ที่ขอให้ลงโทษฐานปลอมเอกสาร ซึ่งโจทก์มิได้กล่าวอ้างมาในฟ้องและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้องในข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ก็ถือว่าปัญหาเกี่ยวกับข้อหาปลอมเอกสารและสมควรลงโทษหนักขึ้นในข้อหาใช้เอกสารปลอมหรือไม่นั้น มิได้ว่ากล่าวมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาโจทก์ในปัญหาดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แล้ววินิจฉัยต่อไปว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริษัทโจทก์เป็นคู่สัญญาขายเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ให้แก่โรงพยาบาลตากสิน โดยจำเลยเป็นผู้จัดการฝ่ายขายเป็นผู้ดำเนินการส่งมอบและติดต่อว่าจ้างบริษัทรังสิภัณฑ์ จำกัดติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และบริษัทซิลิคอนเซลล์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด แก้ไขระบบไฟฟ้าแทนโจทก์ในเดือนเมษายน 2532 จำเลยขอเบิกเงินทดรองจ่ายเพื่อซื้อแผ่นกระจกตะกั่วและโทรทัศน์วงจรปิดจากบริษัทเฮกเกอร์เมเยอร์ (ประเทศไทย)จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกับบริษัทโจทก์เป็นเงิน 110,000บาท เพื่อนำไปใช้ในห้องติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่บริษัทโจทก์ขายให้แก่โรงพยาบาลตากสิน ต่อมา จำเลยได้นำใบเสร็จรับเงินค่าติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จากบริษัทรังสิภัณฑ์ จำกัด จำนวน 110,000 บาท ซึ่งจำเลยเป็นผู้เติมวันที่และลงลายมือชื่อบุคคลอื่นในช่องพนักงานรับเงิน โดยจำเลยมิใช่ลูกจ้างของบริษัทรังสิภัณฑ์ จำกัด เสนอต่อฝ่ายบัญชีบริษัทโจทก์เพื่อเคลียร์เงินทดรองจ่ายที่จำเลยได้เบิกทดรองจ่ายจากบริษัทเฮกเกอร์เมเยอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จากโจทก์พร้อมทั้งขอเบิกเงินค่าแผ่นสเตนเลสที่จะต้องนำไปใช้ที่โรงพยาบาลตากสินอีก41,055 บาท ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมหรือไม่ เห็นว่า การขอเบิกเงินเพื่อเคลียร์เงินทดรองจ่ายนั้นต้องแนบหลักฐานการจ่ายเงินที่ถูกต้องตรงกับเรื่องที่ขอเงินทดรองจ่าย การที่จำเลยลงวันที่และลงลายมือชื่อที่ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยในช่องผู้รับเงินโดยไม่มีอำนาจ โดยมีเจตนาจะนำไปเคลียร์เงินทดรองจ่ายที่ไม่ตรงกับความจริง ย่อมทำให้บุคคลอื่นที่เห็นเอกสารดังกล่าวหลงเชื่อว่าพนักงานรับเงินของบริษัทรังสิภัณฑ์จำกัด เป็นผู้ลงวันที่และลงลายมือชื่อที่แท้จริงเป็นเอกสารที่สมบูรณ์ถูกต้อง จึงเป็นการปลอมเอกสารแล้ว ต่อมาจำเลยนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปเคลียร์กับเงินทดรองจ่ายซึ่งไม่ตรงกันและพนักงานโจทก์หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงจึงเคลียร์บัญชีให้ ย่อมเป็นการใช้เอกสารปลอมตามฟ้อง การที่จำเลยให้บริษัทซิลิคอน เซลล์ แอนด์เซอร์วิส จำกัด สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้แก่บริษัทรังสิภัณฑ์จำกัด บางส่วน แล้วต่อมาได้จัดการชำระเงินส่วนที่เหลือก็เป็นการกระทำภายหลังที่จำเลยได้ก่อความผิดขึ้นแล้ว เหตุที่จำเลยจัดการชำระหนี้ให้บริษัทรังสิภัณฑ์ จำกัด ก็เนื่องจากโจทก์ทราบเรื่องเพราะบริษัทรังสิภัณฑ์ จำกัด ทวงถาม แม้ต่อมาบริษัทรังสิภัณฑ์ จำกัดจะมีหนังสือว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบก็ตาม ก็ไม่เป็นการลบล้างความผิดของจำเลยแต่อย่างใด และมิใช่จำเลยขาดเจตนา
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 ลงโทษปรับ 2,000 บาทไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share