คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2480/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บสะบ้าหัวเข่าขวาแตก ได้รับอันตรายสาหัสนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลถึง 15 วัน และเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้วยังต้องไปรักษาตัวต่อที่บ้านอีกหลายเดือนจึงเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้นแต่ก็ยังไม่ปกติ ศาลกำหนดค่าป่วยเจ็บที่ต้องทนทุกข์ทรมานให้ 10,000 บาท หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถใช้เข่าขวาได้ดีเหมือนเดิมนั่งพับเพียบไม่ได้ นั่งยอง ๆ ไม่ได้ ขาไม่มีกำลัง ไม่สามารถวิ่งและออกกำลังกายได้ เห็นได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้เสื่อมเสียบุคคลิกภาพไปศาลกำหนดค่าเสียหายให้ 10,000 บาท นาฬิกาข้อมือของโจทก์ที่ 4 ขาดหายไปเนื่องจากเหตุรถยนต์ของจำเลยชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 4 จำเลยต้องรับผิดชดใช้ราคาตามสภาพของนาฬิกานั้นให้โจทก์ที่ 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งห้าพร้อมทั้งดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า ความเสียหายของโจทก์เกิดจากการกระทำของโจทก์ที่ 4 และค่าเสียหายก็ไม่มากดังที่ฟ้องโจทก์ที่ 1 กระดูกสะบ้าหัวเข่าขวาแตกเล็กน้อยรักษา 3 วัน หายค่ารักษาไม่เกิน 2,000 บาท โจทก์ที่ 2 ข้อเท้าซ้ำแพลงรักษาไม่เกิน3 วัน ค่ารักษาไม่เกิน 500 บาท โจทก์ที่ 3 คิ้วขวาแตกเล็กน้อยแก้มขวาและข้อเท้าขวาถลอก ค่ารักษาไม่เกิน 50 บาท โจทก์ที่ 4ศีรษะกระแทกไม่ได้รับความเสียหาย ไม่ต้องรักษาพยาบาลนาฬิกาไม่ได้สูญหาย รถของโจทก์ที่ 5 เก่ามาก ซ่อมไม่เกิน 5 วันค่าซ่อมไม่เกิน 1,000 บาทขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 31,143 บาท โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 4,853 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 955 บาท โจทก์ที่ 4เป็นเงิน 4,800 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 12,550 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 20 พฤศจิกายน 2524) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ที่ 1 ที่ 4 และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 16,208.67บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 2,835.33 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน400 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2524 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นต่อไปมีว่า ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ที่ 4 มีจำนวนเท่าใด โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บสะบ้าหัวเข่าขวาแตกได้รับอันตรายสาหัส พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 15 วัน เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว ไม่สามารถใช้เข่าขวาได้ดีเหมือนเดิมนั่งพับเพียบไม่ได้ นั่งยอง ๆ ไม่ได้ ขาไม่มีกำลังขาเล็กไปข้างหนึ่ง เดินไม่เหมือนเดิม ขากะเผลก นั่งชันเข่า วิ่งออกกำลังกาย เล่นกีฬา และทำงานหนักไม่ได้ เสียค่ารักษาพยาบาลไปเป็นเงิน 23,343 บาท ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ 22,413 บาท ขาดไป 930บาท ขอคิดค่าป่วยเจ็บที่ต้องทนทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจเป็นเงิน 50,000 บาท ศาลอุทธรณ์ให้เพียง 900 บาท ขอเพิ่มอีก 49,100 บาทค่าเสื่อมเสียบุคลิกภาพเป็นเงิน 50,000 บาท ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดให้ค่าจ้างรถรับจ้างไปทำงานเป็นเงิน 19,200 บาท ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เพียง 1,000 บาท ขอเพิ่มอีก 18,200 บาท โจทก์ที่ 4 ฎีกาขอคิดค่านาฬิกาข้อมือที่ขาดหายไปเป็นเงิน 8,000 บาท พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 1 จำนวน 23,343 บาท ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.16 ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ที่ 1 ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.13 จ.14 เป็นเงิน 22,413 บาท ส่วนค่ารักษาพยาบาลตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.11 จ.12 จ.15 จ.16 เป็นเงิน930 บาท ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดให้นั้น เห็นว่า ค่ารักษาพยาบาลตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.11 จ.12 จ.15 และ จ.16 เป็นค่าพยาบาลพิเศษเฝ้าไข้ 2 วัน ในวันที่ 20, 21 พฤศจิกายน 2524 เป็นเงิน 500บาท ค่ายา ค่ารักษา 180 บาท และค่าเอกซเรย์ 250 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1มีใบเสร็จรับเงินของโรงพยาบาลมาแสดงจำเลยจึงต้องชดใช้ค่ารักษาพยาบาลส่วนนี้เป็นเงิน 930 บาท ให้โจทก์ที่ 1 ด้วย ค่าป่วยเจ็บที่ต้องทนทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ โจทก์ที่ 1 ขอมา 50,000 บาทนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บสะบ้าหัวเข่าขวาแตก ได้รับอันตรายสาหัส นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลถึง 15วัน และเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว ยังต้องไปรักษาตัวต่อที่บ้านอีกหลายเดือน จึงค่อยเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น แต่ก็ยังไม่ปกติจนทุกวันนี้ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าป่วยเจ็บที่ต้องทนทุกข์ทรมานให้เพียง 900 บาทเห็นว่า กำหนดให้น้อยไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ 10,000 บาท ค่าเสื่อมเสียบุคลิกภาพเป็นเงิน50,000 บาท นั้น ปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ว่า หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถใช้เข่าขวาได้ดีเหมือนเดิม นั่งพับเพียบไม่ได้นั่งยอง ๆ ไม่ได้ ขาไม่มีกำลังไม่สามารถวิ่งและออกกำลังกายได้ และแพทย์ได้ออกหนังสือรับรองตามเอกสารหมาย จ.17 จ.18 ว่า โจทก์ที่ 1กระดูกสะบ้าขาข้างขวาแตกเนื่องจากอุบัติเหตุรถชนกัน ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในการเคลื่อนไหว จากสภาพร่างกายของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวเห็นได้ว่า โจทก์ที่ 1 ได้เสื่อมเสียบุคลิกภาพไป เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ 10,000 บาท ค่าจ้างรถรับจ้างไปทำงานเป็นเวลา 4 เดือน เป็นเงิน 19,200 บาท นั้น ตามหนังสือรับรองของแพทย์ตามเอกสารหมาย จ.18 แพทย์ให้ความเห็นว่า ควรพักรักษาตัว30 วัน และได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ว่า ในช่วงระยะเวลา4 เดือน โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถใช้ขาขวาได้เหมือนปกติ โดยงอเข่าไม่ได้ และไม่สามารถขึ้นรถโดยสารประจำทางได้เห็นว่า โจทก์ที่ 1สะบ้าหัวเข่าข้างขวาแตก ต้องทำการผ่าตัด หัวเข่าเป็นอวัยวะเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของข้อเข่า จึงเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถขึ้นรถโดยสารประจำทางเป็นเวลา 4 เดือน จริง แต่โจทก์หยุดพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 15 วัน และหยุดในวันหยุดทำงานแต่ละสัปดาห์อีก เมื่อหักวันหยุดดังกล่าวออกแล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดค่าจ้างรถรับจ้างไปทำงานให้ 3 เดือน เป็นเงิน 14,400 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 57,743 บาท โจทก์ที่ 4 ฎีกาว่า นาฬิกาข้อมือยี่ห้อโอเมก้า 1 เรือน ราคา 8,000 บาท ได้ขาดหายไปนั้น ปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ว่า วันเกิดเหตุก่อนเหตุเกิดโจทก์ที่ 2 ที่ 3 เห็นโจทก์ที่ 4 ใส่นาฬิกาข้อมือ หลังเกิดเหตุเมื่อโจทก์ที่ 4 ถูกนำตัวถึงโรงพยาบาลนนทเวชซึ่งอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุแล้ว โจทก์ที่ 4 จึงรู้ตัวว่านาฬิกาข้อมือขาดหายไป ให้คนมาค้นหา ณ ที่เกิดเหตุ แต่ไม่พบและโจทก์ที่ 4 ได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ตามบันทึกประจำวันเอกสารหมาย จ.28 จำเลยมิได้นำสืบพยาน จึงเชื่อได้ว่า นาฬิกาข้อมือของโจทก์ที่ 4 ยี่ห้อโอเมก้าได้ขาดหายไปเนื่องจากเหตุรถยนต์ของจำเลยชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 4 จริง ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 4,000 บาท เนื่องจากเป็นนาฬิกาเก่าใช้มาหลายปีแล้ว รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 4 ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ในส่วนอื่นอีก 600 บาท จึงรวมเป็น 4,600 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 57,743 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 4,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 20 พฤศจิกายน 2524) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share