แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัทจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการใหญ่บริหารโรงแรม และมอบอำนาจให้เป็นผู้ทำสัญญาซื้อสินค้าจากโจทก์ รวมทั้งให้เป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คในบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 4 ในกิจการของโรงแรมได้ ดังนี้ถือได้ว่าบริษัทจำเลยที่ 4 ได้เชิดให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนบริษัทจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดในฐานะตัวการชำระราคาสินค้าพร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อจากโจทก์เพื่อใช้ในกิจการของโรงแรม.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 3เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นเจ้าของโรงแรมคอนติเนนตัล เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้เช่าโรงแรมดังกล่าวจากจำเลยที่ 4 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2525 จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะส่วนตัว ได้ร่วมกันซื้อตู้สาขาโทรศัพท์อัตโนมัติ และอุปกรณ์จากโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผิดสัญญา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา จำเลยดังกล่าวได้ขอทำความตกลงใหม่โดยขอซื้ออุปกรณ์โทรศัพท์ตามสภาพที่ติดตั้งไว้ที่โรงแรมฯ ร่วมกับจำเลยที่ 4 ในราคา 1,191,000 บาท โดยผ่อนชำระ 30 เดือนดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 5 มกราคม 2526 และต่อไปทุกเดือนจนกว่าจะครบ หากผิดนัดงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด และจำเลยทั้งสี่ตกลงชำระดอกเบี้ยที่ค้างตามสัญญาเดิม 50,595 บาท แก่โจทก์ด้วยการที่จำเลยที่ 4 ทำความตกลงกับโจทก์ดังกล่าว จำเลยที่ 4ได้เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนและ/หรือ จำเลยที่ 4 รู้แล้ว ยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนจำเลยที่ 4 และจากข้อตกลงดังกล่าวจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 2 ได้สั่งจ่ายเช็ค 5 ฉบับให้แก่โจทก์ แต่ปรากฏว่าเช็คเรียกเก็บได้เพียง 3 ฉบับ อีก 2 ฉบับ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงถาม จำเลยบ่ายเบี่ยง จำเลยทั้งสี่จึงต้องรับผิดใช้ค่าอุปกรณ์ที่เหลือ 1,186,594.23 บาท กับดอกเบี้ย272,323.37 บาทแก่โจทก์ ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินแก่โจทก์ 1,458,917 บาท กับดอกเบี้ยจากต้นเงิน1,186,594.23 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1และที่ 3 เป็นเพียงผู้ดูแลอุปกรณ์โทรศัพท์แทนโจทก์ โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์โทรศัพท์แก่จำเลยที่ 4 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระค่าอุปกรณ์โทรศัพท์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เคยทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์โทรศัพท์กับโจทก์ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2525 ในนามของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2526 ในฐานะส่วนตัวของจำเลยที่ 2 เมื่อติดตั้งอุปกรณ์โทรศัพท์เสร็จ โจทก์ได้ทวงถามค่าสินค้า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แจ้งว่ายังไม่มีเงินโจทก์จึงขอให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายฉบับที่สอง จำเลยที่ 2บอกโจทก์ว่า จำเลยที่ 4 ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้ารายนี้ โจทก์บอกว่าจะไปตกลงกับจำเลยที่ 4 เอง จำเลยที่ 2 จึงทำสัญญากับโจทก์ ต่อมาโจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าสินค้า จำเลยที่ 2 นำเช็คของจำเลยที่ 4 ซึ่งอยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 2 มาสั่งจ่ายให้โจทก์5 ฉบับตามฟ้อง จำเลยที่ 4 ทราบเรื่องจึงเรียกให้จำเลยที่ 2นำเช็คมาคืนแต่ปรากฏว่าโจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินได้ 3 ฉบับ จำเลยที่ 2 จึงต้องให้เงินคืนจำเลยที่ 4 จำนวน 72,565.77 บาท ส่วน 2ฉบับธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงเงินค่าสินค้าอีก จำเลยที่ 2 ขอให้โจทก์นำอุปกรณ์โทรศัพท์คืนไป ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ลงนามในบันทึกการเลิกสัญญาซื้อขายกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของโรงแรมคอนติเนนตัลเมื่อ พ.ศ. 2523 จำเลยที่ 1 ได้เช่าโรงแรมดังกล่าวโดยร่วมกับจำเลยที่ 2 ในนามจำเลยที่ 3 ต่อมาได้เลิกสัญญาเช่า จำเลยที่ 1ให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนส่งมอบโรงแรมฯ คืน จำเลยที่ 4 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 รับโรงแรมฯ คืนจากจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 ยังมีรายได้ค้างรับจากการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นอกจากนี้จำเลยที่ 4 ยังให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจลงนามในเช็คของจำเลยที่ 4จนกว่าการสะสางหนี้สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 4 จะสิ้นสุดลงจำเลยที่ 4 ไม่ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการโรงแรม จำเลยที่ 1 ได้มอบอุปกรณ์โทรศัพท์มาพร้อมกับการส่งมอบโรงแรมฯ คืนแต่ไม่มีรายละเอียดการใช้อุปกรณ์โทรศัพท์จำเลยที่ 4 ครอบครองปรปักษ์เกิน 1 ปี จึงขอให้โจทก์ส่งรายละเอียดการใช้โทรศัพท์มาให้โจทก์ขอให้จำเลยที่ 4 ซื้อโทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังไม่ชำระเงินค่าซื้อขายโทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์จำเลยที่ 4 ว่าไม่สามารถซื้อโทรศัพท์ที่มีพันธะ ผูกพัน ถ้าหากโจทก์จะรับโทรศัพท์คืนก็ได้ โจทก์จึงมอบบันทึกการเลิกสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มาให้จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ว่าหลักฐานดังกล่าวไม่ถูกต้อง ให้เสนอมาใหม่ จำเลยที่ 4 ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 กระทำแทนขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 1,455,555.05 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของโรงแรมคอนติเนนตัล เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2523 บริษัทเซฟเวย์ซุปเปอร์มาเก็ต จำกัด โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะประธานกรรมการได้ทำสัญญาเช่าโรงแรมดังกล่าวจากจำเลยที่ 4 มีกำหนด 10 ปี เมื่อเช่าแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ดำเนินกิจการของโรงแรมในนามจำเลยที่ 3โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการโรงแรม เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2525จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กรรมการได้ทำสัญญาซื้ออุปกรณ์โทรศัพท์พิพาทจากโจทก์ในราคา 1,191,000 บาท ในวันทำสัญญาชำระราคาด้วยเช็ค 200,000 บาท ส่วนที่เหลือ 991,000 บาทผ่อนชำระงวดละ 41,264.44 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2525เป็นต้นไป โจทก์ได้นำอุปกรณ์โทรศัพท์พิพาทไปติดตั้งให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ที่โรงแรมคอนติเนนตัล ตามสัญญา แต่เรียกเก็บเงินตามเช็คดังกล่าวไม่ได้ ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์โทรศัพท์พิพาทในราคาเดิม โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามฝ่ายผู้ซื้อการชำระราคาแบ่งเป็น 30 งวด บวกดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ในวันทำสัญญาผู้ซื้อได้ชำระราคาและดอกเบี้ยที่ค้างด้วยเช็คของจำเลยที่ 4 รวม 5 ฉบับ เป็นเงิน 128,192.77 บาท โดยจำเลยที่ 2 ลงนามผู้สั่งจ่าย ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.7 โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คได้ 3 ฉบับรวมเป็นเงิน 72,565.77 บาท คงเหลือค่าอุปกรณ์โทรศัพท์พิพาทค้างชำระ 1,186,894.23 บาท
ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนทำสัญญาซื้ออุปกรณ์โทรศัพท์พิพาทจากโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยที่ 4มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ดำเนินกิจการโรงแรมแทนและมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คของจำเลยที่ 4 ในกิจการของโรงแรมได้การที่จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้ออุปกรณ์โทรศัพท์พิพาทจากโจทก์โดยระบุว่ากระทำการแทนจำเลยที่ 4 ตามเอกสารหมาย จ.7 แล้วจำเลยที่ 2 ได้สั่งจ่ายเช็คของจำเลยที่ 4 ชำระราคาค่าอุปกรณ์โทรศัพท์และดอกเบี้ยบางส่วนตามสัญญาให้โจทก์ประกอบกันกับจำเลยที่ 4 ก็ได้ใช้อุปกรณ์โทรศัพท์พิพาทในกิจการโรงแรมของจำเลยที่ 4ตลอดมา แสดงว่าจำเลยที่ 4 ได้เช็คให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนเข้าทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์โทรศัพท์พิพาทกับโจทก์ จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในฐานะตัวการต้องชำระราคาอุปกรณ์โทรศัพท์พิพาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
พิพากษายืน.