แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์มิได้มีอำนาจทั่วไปในการเจรจาและตกลงทำสัญญาต่าง ๆ แทนบริษัทแอลเอ็มอีริคสัน จำกัด บริษัทต่างประเทศซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสวีเดนเป็นปกติวิสัย โจทก์จึงไม่เป็นสถานประกอบการถาวรของบริษัท แอลเอ็มอีริคสัน จำกัด ตามความตกลงว่าด้วยอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศสวีเดนเพื่อการเว้น การเก็บภาษีซ้อน โจทก์จึงไม่มีภาระที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทนบริษัทแอลเอ็มอีริคสัน จำกัด.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2520 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มจากโจทก์ตามแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มที่ต.9/1041/2/00744-49 รวม 6 ฉบับ เรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มจากโจทก์สำหรับระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2510 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2512 รวมเป็นเงิน 1,640,804.17 บาทโดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อให้แก่บริษัทแอล เอ็ม อีริคสัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทย เป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าวได้รับเงินและผลกำไรในประเทศไทยโจทก์ในฐานะตัวแทนจึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นและจะต้องคำนวนเงินภาษีในอัตราร้อยละ 2 ของยอดรายรับกับจะต้องเสียภาษีจากการจำหน่ายกำไร โจทก์ไม่เห็นด้วย ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานชอบแล้วจึงให้ยกอุทธรณ์ โจทก์เห็นว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มการประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์มิได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในฐานะลูกจ้าง ผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อแทนบริษัทแอล เอ็ม อีริคสัน จำกัด อันเป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าวได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทยแต่อย่างใด บริษัทดังกล่าวเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศสวีเดนตามความหมายแห่ง “ความตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศสวีเดนเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน” และมิได้มีสถานประกอบการถาวรในราชอาณาจักรไทย โจทก์มิได้กระทำการอย่างใดที่ถือว่าเป็นสถานประกอบการถาวรของบริษัท แอล เอ็ม อีริคสัน จำกัด ขอให้พิพากษาเพิกถอนแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย และให้งดหรือเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์เป็นตัวแทนบริษัทแอล เอ็ม อีริคสัน จำกัด ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศสวีเดนทำการติดต่อในการจัดซื้อและส่งมอบเครื่องชุมสายโทรศัพท์และอุปกรณ์ให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นเหตุให้บริษัท แอล เอ็ม อีริคสันจำกัด ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย โจทก์จึงมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกับเสียภาษีเงินได้ในจำนวนเงินที่จำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยให้แก่บริษัท แอล เอ็ม อีริคสัน จำกัด และเนื่องจากบริษัทโจทก์เป็นสถานประกอบการถาวรของบริษัท แอล เอ็ม อีริคสัน จำกัด ในประเทศไทยจึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการยกเว้นภาษีตามความตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศสวีเดนเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน แต่โจทก์มิได้ยื่นรายการและเสียภาษีไว้ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงได้ประเมินเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มเรียกเก็บจากโจทก์เป็นเงินรวม1,640,804.17 บาท โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าการประเมินถูกต้องแล้ว ทั้งโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้งดหรือลดเงินเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงไม่มีสิทธิยกประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสวีเดน และมีสำนักงานสาขาในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2510 ถึง พ.ศ. 2512 บริษัท แอล เอ็มอีริคสัน จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสวีเดน ได้ติดต่อและทำสัญญาขายเครื่องชุมสายโทรศัพท์และอุปกรณ์ให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย ล.10 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2520 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มให้โจทก์ชำระเป็นเงิน 1,640,804.17 บาท โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ทำการแทนหรือทำการติดต่อให้แก่บริษัท แอล เอ็ม อีริคสัน จำกัด เป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าวได้รับเงินได้และผลกำไรในประเทศไทย โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
ปัญหาในชั้นฎีกามีว่า โจทก์เป็นสถานประกอบการถาวรของบริษัทแอล เอ็ม อีริคสัน จำกัด หรือไม่ โดยคู่ความยอมรับกันว่าหากโจทก์ไม่เป็นสถานประกอบการถาวรของบริษัทดังกล่าว โจทก์ก็ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรที่พิพาทกันในคดีนี้ เพราะบริษัทดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีอากรตามความตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศสวีเดนเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนเอกสารหมาย จ.4 ทั้งนี้ เนื่องจากข้อ 3(1) แห่งความตกลงดังกล่าวระบุว่า กำไรของวิสาหกิจของรัฐบาลคู่ภาคีฝ่ายหนึ่งให้เสียภาษีเฉพาะแต่ในอาณาเขตของรัฐบาลคู่ภาคีฝ่ายนั้นเท่านั้นเว้นไว้แต่ว่าวิสาหกิจนั้นกระทำธุรกิจในอาณาเขตของรัฐบาลคู่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยผ่านทางสถานประกอบการถาวรซึ่งมีอยู่ในอาณาเขตนั้นฯลฯ บริษัทดังกล่าวเป็นวิสาหกิจของประเทศสวีเดน ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามความตกลงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ข้อ 2(1) (ช) (4) ของความตกลงดังกล่าวกำหนดว่าบุคคลที่กระทำการในอาณาเขตของรัฐบาลคู่ภาคีฝ่ายหนึ่งเพื่อหรือแทนวิสาหกิจของรัฐบาลคู่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งให้ถือว่าเป็นสถานประกอบการถาวรของวิสาหกิจนั้น ในอาณาเขตที่กล่าวถึงทีแรก แต่ต้องมีเงื่อนไขว่า 1. ผู้นั้นมีและใช้อยู่เป็นปกติวิสัยในอาณาเขตที่กล่าวถึงทีแรก ซึ่งอำนาจทั่วไปในการเจรจาและตกลงทำสัญญาต่าง ๆ เพื่อหรือแทนวิสาหกิจนั้น เว้นไว้แต่ว่าการดำเนินงานต่าง ๆ ของบุคคลนั้นจำกัดอยู่แต่เฉพาะเพียงการซื้อสั่งของหรือสินค้าเพื่อวิสาหกิจนั้น ฯลฯ หรือ 3. ผู้นั้นจัดทำคำสั่งซื้อในอาณาเขตที่กล่าวถึงทีแรกอย่างเป็นปกติวิสัยทั้งหมดหรือเกือบหมดเพื่อวิสาหกิจนั้นเอง หรือเพื่อวิสาหกิจและวิสาหกิจอื่นซึ่งวิสาหกิจนั้นควบคุมอยู่หรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ โจทก์มีนายมานะ พิทยาภรณ์และนายศิริชัย แสงกร หรือแสงสร เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจทั่วไปในการเจรจาและตกลงทำสัญญาต่าง ๆ แทนบริษัทแอล เอ็ม อีริคสัน จำกัด เป็นปกติวิสัยในประเทศไทยและโจทก์ไม่ได้เป็นตัวแทนผู้ทำการติดต่อเกี่ยวกับการซื้อขายแทนบริษัทดังกล่าวได้ความจากนายโอ ลอฟ มอแรนเดอร์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ว่า ในการที่บริษัทดังกล่าวทำสัญญาขายอุปกรณ์โทรคมนาคมให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนั้น โจทก์ไม่เคยลงนามในสัญญาหรือต่อรองราคาแทนบริษัทดังกล่าวเลย ทั้งโจทก์ไม่มีอำนาจลงนามในสัญญาแทนบริษัทดังกล่าวด้วย ฝ่ายจำเลยมีนายจำรูญ วัชราภัยผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในขณะนั้นมาเบิกความว่าในการที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซื้ออุปกรณ์เครื่องชุมสายโทรศัพท์จากบริษัท แอล เอ็ม อีริคสัน จำกัด นั้น โจทก์เคยมาติดต่อรับคำสั่งซื้อไป แต่พยานปากนี้ก็เบิกความยอมรับว่าพยานไม่ทราบความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบริษัทดังกล่าว ได้ความจากนายชัยยศ หินทองเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากร พยานจำเลยว่า จากการตรวจสอบพบว่าโจทก์เป็นตัวแทนของบริษัทดังกล่าว เมื่อกองตรวจภาษีอากรมีหนังสือเอกสารหมาย ล.9 ถึงองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบริษัทดังกล่าวก็ได้รับคำตอบตามเอกสารหมาย ล.4ในการตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ นายชัยยศอ้างว่าที่ลงความเห็นว่าโจทก์เป็นสถานประกอบการถาวรของบริษัทดังกล่าว ก็เพราะโจทก์มีส่วนร่วมในการร่างสัญญาซื้อขายและการออกของจากท่าเรือ ตามพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบนั้น ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีอำนาจทั่วไปในการเจรจาและตกลงทำสัญญาต่าง ๆ แทนบริษัท แอล เอ็ม อีริคสัน จำกัด เป็นปกติวิสัย หรือโจทก์จัดหาคำสั่งซื้ออย่างเป็นปกติวิสัยทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเพื่อบริษัทดังกล่าว โจทก์จึงไม่เป็นสถานประกอบการถาวรของบริษัทดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน