แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในการปิดบัญชีเงินสดของแต่ละวัน โจทก์ตรวจแต่บัญชีเงินสดมิได้ตรวจตราไปรษณียากรคงเหลือ ทะเบียน กับสมุดแรกรับตราไปรษณียากรและวิมัยบัตรตามหน้าที่ เป็นเหตุให้พนักงานเงินทุจริตนำไปรษณียากรและเงินฝากส่งไปรษณีย์ภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์รายเดือนไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างโดยตรงฐานผิดสัญญาจ้างและฐานกระทำละเมิดต่อจำเลยในฐานลูกหนี้ร่วมกับพนักงานเงิน โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากเกษียณอายุ โดยโจทก์ไม่มีความผิด ขอให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และเงินโบนัสแก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบของจำเลยเป็นเหตุให้พนักงานเงินของจำเลยทุจริตทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงขอใช้สิทธิหักกลบลบหนี้กับเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลย ซึ่งเมื่อหักแล้วโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยอยู่อีกจำนวนหนึ่ง จำเลยจึงฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในจำนวนเงินดังกล่าว เช่นนี้ ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากโจทก์กระทำผิดสัญญาจ้างและกระทำละเมิดต่อจำเลย จึงเป็นฟ้องแย้งที่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมแล้ว ทั้งจำเลยได้บรรยายฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างไร จำเลยได้รับความเสียหายอย่างไร เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วส่วนข้อที่ว่าโจทก์ละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับอย่างไรฉบับที่เท่าใดนั้น เป็นเรื่องที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เคลือบคลุม เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติว่า การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของจำเลยเป็นเหตุให้พนักงานเงินทุจริตนำเงินของจำเลยไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวจำนวน 397,090.50 บาท และโจทก์ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนให้แก่จำเลยด้วย แม้ในฟ้องแย้งจำเลยจะมีคำขอให้โจทก์ใช้เพียง 36,130.15 บาทก็เพราะจำเลยเข้าใจว่าสามารถนำสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดมาหักกับสิทธิเรียกร้องในเงินตามฟ้องของโจทก์ได้ จึงต้องถือว่าจำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนจำนวนทั้งหมดอยู่เช่นเดิม เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องรวม 375,257.14 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยเพื่อความสะดวกในการบังคับคดีตามคำพิพากษา จึงให้หักหนี้กันเสียโดยให้มีผลนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป โจทก์จึงต้องชำระเงินให้จำเลยอีก21,833.36 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย แต่เนื่องจากจำเลยมิได้อุทธรณ์จึงให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องแย้งตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินบำเหน็จ ค่าชดเชยและเงินโบนัสพร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน 375,257.14 บาท จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ในระหว่างที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยมีหน้าที่ควบคุมตรวจสอบดูแลรับผิดชอบการงานและบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ภายในที่ทำการทั้งหมด โดยโจทก์ต้องร่วมรับผิดชอบกับกรรมการอีก 2 คน คือ พนักงานเงินและพนักงานบัญชี และพนักงานเงินได้กระทำการทุจริตตราไปรษณียากรและเงินค่าฝากรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 397,090.50 บาท จำเลยจึงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนผลการสอบสวนปรากฏว่าเหตุที่พนักงานเงินกระทำทุจริตเพราะโจทก์ละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานและเป็นการละเมิดต่อจำเลย ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยเมื่อนำไปหักกลบลบหนี้กับเงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และโบนัสที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยกรณีต้องออกจากงานเพราะเกษียณอายุแล้วโจทก์ยังคงเป็นหนี้ค่าสินไหมทดแทนจำเลยเป็นเงิน 36,130.15 บาทขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม และเป็นฟ้องแย้งที่เคลือบคลุม โจทก์ก็ไม่ได้ผิดสัญญาจ้างและทำละเมิดต่อจำเลย ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องแย้งของจำเลยจำนวน 36,130.15 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า หนี้จำนวน 397,090.50 บาท ไม่ใช่หนี้ร่วมเพราะต่างคนต่างละเมิดเกิดความเสียหายอันเดียวกัน โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในลักษณะของหนี้ร่วมควรรับผิดเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น เห็นว่าตามระเบียบของจำเลยฉบับที่ 23/2521 เอกสารหมาย จ.14 ข้อ 7, 12 และ 14ได้กำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานเงินพนักงานบัญชีในการปิดบัญชีแต่ละวัน โจทก์มีหน้าที่ต้องตรวจนับเงินสด ตราไปรษณียากร อากรแสตมป์ ตั๋วแลกเงิน และวิมัยบัตรให้ตรงกับยอดเงินคงเหลือในบัญชีเงินสด (บ. 26) แต่ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาได้ความว่า ในการปิดบัญชีเงินสดในแต่ละวันตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2529 ถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2529โจทก์ตรวจแต่บัญชีเงินสด มิได้ตรวจตราไปรษณียากรคงเหลือแต่ละวันทะเบียนคุมเงินตราไปรษณียากร สมุดแรกรับตราไปรษณียากรและวิมัยบัตร เป็นเหตุให้นายเสทื้อนพนักงานเงินทุจริตไปรษณียากรและเงินฝากส่งไปรษณีย์ภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์รายเดือนนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยโดยตรงฐานผิดสัญญาจ้างและฐานกระทำละเมิดต่อจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระเงินดังกล่าวแก่จำเลยได้โดยสิ้นเชิง ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ร่วมรับผิดกับนายเสทื้อนและนายอาดุลย์ชำระหนี้ให้แก่จำเลยอย่างลูกหนี้ร่วมจึงชอบแล้ว
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยว่าเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่มีความผิด แต่เนื่องจากเกษียณอายุ เรียกค่าชดเชยเงินบำเหน็จ และเงินโบนัส จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์ผิดสัญญาหรือทำละเมิด ประเด็นแห่งคดีจึงมิใช่เรื่องเดียวกัน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จำเลยต้องแยกฟ้องโจทก์ต่างหากนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ ถือเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดขอให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และเงินโบนัสแก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบของจำเลยเป็นเหตุให้พนักงานเงินของจำเลยทุจริต ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงขอใช้สิทธิหักกลบลบหนี้กับเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลย แล้วโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยอยู่อีกจำนวนหนึ่งจำเลยจึงฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในจำนวนเงินดังกล่าวเห็นว่าฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากโจทก์กระทำผิดสัญญาจ้างและกระทำละเมิดต่อจำเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายฟ้องแย้งของจำเลยจึงถือได้ว่าเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมแล้ว
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ฟ้องแย้งของจำเลยไม่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดในสภาพแห่งข้อหาว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างไรฉบับที่เท่าใด ซึ่งเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้โจทก์ทราบว่าโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างหรือกระทำละเมิดต่อจำเลยอย่างไร ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า จำเลยได้บรรยายฟ้องแย้งแล้วว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างไร จำเลยได้รับความเสียหายอย่างไร เป็นฟ้องแย้งที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ส่วนข้อที่ว่าโจทก์ละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับอย่างไรฉบับที่เท่าใดนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยจะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เคลือบคลุมตามข้ออุทธรณ์ของโจทก์อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และหาผู้รับผิดทางแพ่งที่จำเลยแต่งตั้งไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วย ความรับผิดของพนักงานและลูกจ้างของจำเลยในทางแพ่งกับข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 3 ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวน จึงเป็นการสอบสวนไม่ชอบ คำสั่งของจำเลยที่ลงโทษโจทก์และให้โจทก์ร่วมรับผิดทางแพ่งกับนายเสทื้อนย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ส่วนการที่โจทก์ไม่อุทธรณ์คำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์จะถือว่าโจทก์ยอมรับผิดในทางแพ่งไม่ได้ ทั้งจำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบเรื่องจะต้องรับผิดทางแพ่งโดยเร็วเป็นการไม่ชอบ ครั้นโจทก์ได้รับแจ้งในเวลาต่อมา โจทก์ก็แจ้งจำเลยทันทีว่าหนี้ที่จำเลยแจ้งมายังมีข้อต่อสู้อยู่นั้นมีความหมายเท่ากับโจทก์ต่อสู้ว่าหนี้ที่จำเลยนำมาหักกับสิทธิเรียกร้องเงินตามฟ้องของโจทก์มีข้อต่อสู้อยู่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลย และในชั้นพิจารณาโจทก์เบิกความว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยด้วย หนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยเรียกจากโจทก์จึงมีข้อต่อสู้ ดังนั้นจำเลยจะขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ไม่ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ดีปรากฏว่าจำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติว่า การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของจำเลยเป็นเหตุให้นายเสทื้อนพนักงานเงินทุจริตนำเงินของจำเลยไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวจำนวน 397,090.50 บาทและโจทก์ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนให้แก่จำเลยด้วยแม้ในฟ้องแย้งจำเลยจะมีคำขอให้โจทก์ใช้เงินเพียง 36,130.15 บาทก็เพราะจำเลยเข้าใจว่าสามารถนำสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดดังกล่าวมาหักกับสิทธิเรียกร้องในเงินตามฟ้องของโจทก์ได้จึงต้องถือว่าจำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนจำนวนทั้งหมดอยู่เช่นเดิม เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องเป็นเงินรวม 375,257.14 บาทกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 360,960.35 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ในขณะเดียวกันโจทก์ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 397,090.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการบังคับตามคำพิพากษาจึงเห็นสมควรให้หักหนี้กันเสียโดยให้มีผลนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปซึ่งปรากฏว่าเมื่อหักหนี้แล้ว โจทก์ต้องชำระเงินให้จำเลยอีกเป็นจำนวน 21,833.36 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยดังกล่าว แต่เนื่องจากจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ จึงให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยจำนวน 21,833.36บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง