คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2474/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คให้แก่ ส. ตั้งแต่ประมาณต้นปี 2507แต่ไม่ได้ลงวันที่ ต่อมาโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทมาในสภาพเดียวกันโจทก์นำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินธนาคารได้ลงวันที่ที่มีการนำเช็คเข้าลงบนเช็คพิพาท ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 มอบเช็คพิพาทให้แก่ ส. ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยยินยอมให้ผู้ทรงเช็คลงวันที่ในเช็คได้เองตามที่เห็นสมควรเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นได้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงย่อมลงวันที่ได้เมื่อโจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีในวันที่ 3 กันยายน 2527 แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกันจากนั้นในวันที่ 9 ตุลาคม 2527 โจทก์นำคดีมาฟ้องศาล จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันสั่งจ่าย คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ การที่โจทก์นำเช็คที่ยังไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไปขึ้นเงินที่ธนาคาร แล้วเจ้าหน้าที่ธนาคารได้ลงวันที่สั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงลงบนเช็ค ย่อมถือเป็นปริยายได้ว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารได้ลงวันที่สั่งจ่ายโดยสุจริตแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง จำเลยที่ 1จะโต้แย้งในภายหลังว่าการกระทำนั้นไม่สุจริตหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่าย และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สลักหลังเช็ค ร่วมกันชำระเงิน 60,375 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 60,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์รับเช็คพิพาทไว้โดยการสมคบกับนายเสวกทำการฉ้อฉล โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เช็คพิพาทออกมาเกินกว่า 20 ปีการลงวันที่ 3 กันยายน 2527 ในเช็คมิใช่วันที่ถูกต้องแท้จริงคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบมารับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 จ.2 ให้แก่นายเสวก ทินกร ณ อยุธยา เพื่อชำระหนี้เงินยืม โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลัง ต่อมาโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ โดยรับโอนมาจากนายเสวก ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า นายเสวกได้มอบเช็คให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินยืมแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์ได้รับเช็คมาจากนายเสวกโดยคบคิดกันฉ้อฉลอย่างใด ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทซึ่งมีสภาพเก่ามากแสดงว่าโจทก์ไม่สุจริตนั้น ก็ไม่อาจจะรับฟังได้ว่า โจทก์รับโอนเช็คมาจากนายเสวกโดยคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 จ.2 ให้แก่โจทก์ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปมีว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 จ.2ให้แก่นายเสวกนั้น ไม่ได้ลงวันที่ที่สั่งจ่ายในเช็คทั้ง 2 ฉบับโจทก์ก็ได้รับโอนเช็คมาในสภาพเดียวกัน เมื่อโจทก์นำเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ ไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาเชียงกงเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค ก็ไม่ปรากฏวันสั่งจ่ายในเช็คทั้ง 2 ฉบับเมื่อโจทก์ยื่นเรียกเก็บเงินตามเช็คแล้ว ธนาคารจึงได้ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับเป็นวันที่ 3 กันยายน 2527ในวันเดียวกันธนาคารตามเช็คก็ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 โจทก์ได้นำคดีมาฟ้องศาลเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม2527 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันสั่งจ่ายคือวันที่ 3 กันยายน2527 จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าจะต้องนับอายุความตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 สั่งปิดบัญชีต่อธนาคารเมื่อ 10 ปีมาแล้ว จึงฟังไม่ขึ้น คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การลงวันที่ในเช็คพิพาทนั้น โจทก์กระทำโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยกู้ยืมเงินนายเสวกโดยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้นายเสวกไว้ ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยยินยอมให้ผู้ทรงเช็คลงวันที่เองตามที่เห็นสมควรเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คจากจำเลยเพื่อชำระหนี้นั้นได้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงย่อมลงวันที่ใดก็ได้ และเมื่อโจทก์ได้ลงวันที่ไปแล้วก็ย่อมเป็นการชอบ อีกทั้งการที่เจ้าหน้าที่ธนาคารลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คก็ถือเป็นปริยายได้ว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารได้ลงวันที่สั่งจ่ายโดยสุจริตแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง และเป็นการลงวันที่สั่งจ่ายเช็คที่ถูกต้องแท้จริง จำเลยจะมาโต้แย้งในภายหลังว่าการกระทำนั้นไม่สุจริตหาได้ไม่
พิพากษายืน.

Share