คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินที่ยังค้างชำระตามเช็คพร้อมกับแนบรูปถ่ายเช็คมาท้ายฟ้อง โดยกล่าวอ้างในฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่โจทก์มิได้กล่าวถึงจำเลยที่ 2 ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใดกับเช็คด้วย ฟ้องของโจทก์จึงแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีลายมือชื่อในเช็ค ทั้งรูปถ่ายเช็คท้ายฟ้องก็ไม่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ฉะนั้น การที่ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือในเช็คไม่ว่าในฐานะผู้สั่งจ่ายหรือฐานะอื่นใด อันเป็นการแสดงว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเช็คนั้น จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นเพราะเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากคำฟ้องของโจทก์เอง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากัน ได้ก่อหนี้ร่วมกันโดยจำเลยที่ 1 ออกเช็คแลกเงินสดจากโจทก์ ดังนี้ เช็คหาใช่หลักฐานแห่งหนี้หรือแสดงว่าจำเลยเป็นหนี้ไม่ แต่เป็นการสั่งธนาคารให้ใช้เงิน กรณีนี้ต้องถือว่าเป็นการชำระหนี้โดยใช้เช็คแทนเงิน เกิดความผูกพันระหว่างกันในลักษณะตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 ซึ่งบุคคลที่ลงลายมือชื่อในเช็คเท่านั้นที่จะต้องรับผิดตามข้อความในเช็ค แม้โจทก์จะอ้างว่า ฟ้องเรียกเงินตามมูลหนี้เดิมก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามฟ้อง เพราะจำเลยที่ 2 มิได้มีลายมือชื่อในเช็คหากจะถือว่ามูลหนี้เดิมเป็นหนี้กู้ยืมเงิน โจทก์ก็ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 2 มาแสดง โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับจำเลยที่ 2 หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากัน ได้มาพบโจทก์จำเลยที่ 1 ออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาอุบลราชธานี สั่งจ่ายเงิน 30,000 บาท แลกเงินสดจากโจทก์ โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน หนี้รายนี้เป็นหนี้ที่จำเลยทำขึ้นด้วยกัน ต่อมาจำเลยที่ 2ได้ผ่อนชำระเงินให้โจทก์รวม 6,000 บาท คงค้าง 24,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ต่อสู้ปฏิเสธความรับผิด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 24,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ข้อแรกฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีเลยว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คที่โจทก์ฟ้อง ไม่ว่าในฐานะผู้สั่งจ่าย ผู้สลักหลัง ผู้รับรอง หรือผู้รับอาวัล จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์นำเอาเหตุที่จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นต่อสู้เป็นเหตุยกฟ้อง เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้เงินที่ยังค้างชำระตามเช็คพร้อมทั้งแนบรูปถ่ายเช็คมาท้ายฟ้อง โดยกล่าวอ้างในฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่โจทก์ มิได้กล่าวถึงจำเลยที่ 2 ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใดกับเช็คด้วย ฟ้องของโจทก์จึงแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีลายมือชื่อในเช็ค ทั้งในรูปถ่ายเช็คที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้อง ก็ไม่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ฉะนั้น การที่ศาลล่างวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อในเช็ค ไม่ว่าในฐานะผู้สั่งจ่ายหรือฐานะอื่นใด อันเป็นการแสดงว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเช็คนั้น จึงไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นเพราะเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากคำฟ้องของโจทก์นั้นเอง

ข้อสองฎีกาว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกเงินตามมูลหนี้เดิมโดยนำเช็คมาแสดงว่าจำเลยเป็นหนี้ ไม่ใช่ตั้งฐานฟ้องในเรื่องตั๋วเงิน และได้ให้ข้อเท็จจริงในคำฟ้องต่อไปว่า หนี้รายนี้เป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เช็คหาใช่หลักฐานแห่งหนี้หรือแสดงว่า จำเลยเป็นหนี้ไม่ แต่เป็นการสั่งธนาคารให้ใช้เงิน ซึ่งในกรณีนี้ต้องถือว่าเป็นการชำระหนี้โดยใช้เช็คแทนเงิน เกิดความผูกพันระหว่างกันในลักษณะตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 ซึ่งมีผลว่า บุคคลที่ลงลายมือชื่อในเช็คเท่านั้นที่จะต้องรับผิดตามข้อความในเช็ค ดังนั้น แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ฟ้องเรียกเงินตามมูลหนี้เดิมและบรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงแสดงว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในมูลหนี้เดิมก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามฟ้องด้วย เพราะจำเลยที่ 2มิได้มีลายมือชื่อในเช็ค หากจะถือว่ามูลหนี้เดิมเป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์ก็มิได้มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 2 มาแสดง โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับจำเลยที่ 2 ไม่ได้ พิพากษายืน

Share