คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2472-2474/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ที่เกิดจากสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนนั้น ฐานะของคู่สัญญามิได้เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ฝ่ายเดียว แต่ละฝ่ายต่างมี 2 ฐานะคือเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ด้วยการโอนสิทธิ์เรียกร้องให้บุคคลอื่นต่อไปนั้น จะใช้วิธีการแบบโอนสิทธิ์เรียกร้องธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 หาได้ไม่ เมื่อจำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่มารดาโจทก์แต่ละสำนวน และมารดาโจทก์แต่ละสำนวนได้โอนสิทธิ์ให้โจทก์ กรณีเป็นเรื่องแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ลูกหนี้ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 คือจะต้องทำสัญญาต่อกัน ซึ่งบางกรณีต้องทำเป็นหนังสือด้วยและต้องไม่ขืนใจลูกหนี้ซึ่งหมายความว่าทั้งลูกหนี้ซึ่งหมายความว่าทั้งลูกหนี้เจ้าหนี้ต้องยินยอมต่อกันนั่นเอง หาใช่เพียงแต่แจ้งการโอนให้ลูกหนี้ทราบก็เกิดสัญญาแปลงหนี้ใหม่ได้ไม่ เมื่อฟังไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยได้มีการทำสัญญากันใหม่ หนี้ใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยแต่อย่างใด และไม่เกิดอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่พิพาทให้โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่มารดาของโจทก์ทั้งสามสำนวนโดยรับมัดจำไว้แล้ว สัญญาจะโอนให้เมื่อแบ่งแยกโฉนดเสร็จ ต่อมาแยกโฉนดเสร็จและนัดทำการโอนแล้ว มารดาโจทก์แต่ละสำนวนได้โอนสิทธิ์เรียกร้องให้โจทก์ โจทก์และผู้ซื้อแต่ละสำนวนได้แจ้งการโอนสิทธิ์เรียกร้องให้จำเลยทราบ และนัดไปทำการโอน แต่จำเลยเรียกราคาที่ดินเพิ่มและไม่ยินยอม ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยโอนที่ดินแก่โจทก์ทุกสำนวนและรับเงินที่เหลือ กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า โจทก์กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทุกสำนวน
โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า หนี้ที่เกิดจากสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนนั้น ฐานะของคู่สัญญามิได้เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ฝ่ายเดียว แต่ละฝ่ายต่างมี ๒ ฐานะคือ เป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ด้วย การโอนสิทธิ์เรียกร้องให้บุคคลอื่นต่อไปนั้น จะใช้วิธีการแบบโอนสิทธิ์เรียกร้องธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๖ หาได้ไม่ เมื่อจำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่มารดาโจทก์แต่ละสำนวน และมารดาโจทก์แต่ละสำนวนได้โอนสิทธิ์ให้โจทก์ กรณีเป็นเรื่องแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ลูกหนี้ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๕๐ คือจะต้องทำสัญญาต่อกัน ซึ่งบางกรณีต้องทำเป็นหนังสือด้วยและไม่ต้องขืนใจลูกหนี้ซึ่งหมายความว่าทั้งลูกหนี้เจ้าหนี้ต้องยินยอมต่อกันนั่นเอง หาใช่เพียงแต่แจ้งโอนให้ลูกหนี้ทราบก็เกิดสัญญาแปลงหนี้ใหม่ได้ เมื่อฟังไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยได้มีการทำสัญญากันใหม่หนี้ใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยแต่อย่างใด และไม่เกิดอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่พิพาทให้โจทก์ได้
พิพากษายืน.

Share