คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2468/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์สำนวนหลังเป็นการฟ้องหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดินแปลงเดียวกับสำนวนแรกและบุกรุกในวันเดียวกัน แต่สำนวนแรกโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยบุกรุกที่ดินส่วนไหน เนื้อที่เท่าไร และโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด โจทก์เพิ่งมาบรรยายฟ้องในสำนวนหลังว่า จำเลยบุกรุกเป็นบางส่วน โจทก์จึงได้ฟ้องขับไล่จำเลยตามสำนวนแรก ภายหลังฟ้องแล้วจำเลยยังทำการบุกรุกเรื่อยมาจนกระทั่งหมดทั้งแปลง และขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายด้วย ดังนี้ ฟ้องโจทก์สำนวนหลังระบุถึงการบุกรุกของจำเลยในที่ดินแปลงเดียวกันในคราวเดียวกัน และเกี่ยวเนื่องกันกับสำนวนแรกความประสงค์ของโจทก์ที่ฟ้องสำนวนหลังก็เพื่อจะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งโจทก์อาจเรียกร้องได้ตั้งแต่สำนวนแรก แต่โจทก์มิได้เรียกร้องไว้ โจทก์เพิ่งมาเรียกร้องในสำนวนหลัง ฟ้องโจทก์สำนวนหลัง จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์สำนวนหลังไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับสำนวนแรก พิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมในสำนวนแรกออกจากที่ดินของโจทก์ และร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาทั้งสองสำนวน

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อวินิจฉัยต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์สำนวนหลังเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับสำนวนแรกหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องโจทก์สำนวนหลังเป็นการฟ้องหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดินแปลงเดียวกับสำนวนแรก และบุกรุกในวันเดียวกันคือวันที่ 19 กรกฎาคม 2518 แต่สำนวนแรกโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยบุกรุกที่ดินส่วนไหนเนื้อที่เท่าไร และโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด โจทก์เพิ่งมาบรรยายฟ้องในสำนวนหลังว่า จำเลยบุกรุกเป็นบางส่วน โจทก์จึงได้ฟ้องขับไล่จำเลยตามสำนวนแรก ภายหลังฟ้องแล้วจำเลยยังทำการบุกรุกเรื่อยมาจนกระทั่งหมดทั้งแปลง และขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายด้วย ดังนี้ เห็นได้ชัดว่า ฟ้องโจทก์สำนวนหลังระบุถึงการบุกรุกของจำเลยในที่ดินแปลงเดียวกัน ในคราวเดียวกัน และเกี่ยวเนื่องกันกับสำนวนแรก ความประสงค์ของโจทก์ที่ฟ้องสำนวนหลังก็เพื่อจะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลย ซึ่งโจทก์อาจเรียกร้องได้ตั้งแต่สำนวนแรก แต่โจทก์มิได้เรียกร้องไว้โจทก์เพิ่งมาเรียกร้องในสำนวนหลัง ฟ้องโจทก์สำนวนหลังจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1) ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนหลัง ค่าฤชาธรรมเนียมสำนวนหลังทั้งสามศาล กับค่าทนายความสำนวนแรกในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share