คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2466/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไม่มีบทบัญญัติใดในพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524ที่บัญญัติให้สมาชิกพรรคการเมืองใช้สิทธิทางศาลได้ โจทก์ในฐานะสมาชิกพรรคจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาให้ศาลวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคตามข้อบังคับใหม่เป็นโมฆะและตราบใดที่โจทก์ยังไม่ถูกบังคับให้กระทำหรืองดเว้นกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยอาศัยอำนาจจากการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคใหม่สิทธิและหน้าที่ของโจทก์มีอยู่อย่างไร ก็มีอยู่อย่างนั้น ข้ออ้างที่ว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าพรรคดำเนินการประชุมเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคโดยมิชอบนั้น เป็นเพียงความขัดแย้งกันในทางความคิด กรณียังไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเป็นสมาชิกพรรคจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่10 มกราคม 2530 จำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าพรรคได้จัดให้มีการประชุมใหญ่สมาชิกพรรคเพื่อพิจารณาความเห็นในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับของพรรคเสียใหม่ เมื่อมีการแก้ไขข้อบังคับแล้ว จำเลยที่ 2ไม่ได้นำข้อบังคับใหม่ไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแต่กลับนำข้อบังคับใหม่ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้นมาดำเนินการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทันทีในวันเดียวกันนั้น อันเป็นการนำข้อบังคับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาใช้บังคับแก่สมาชิกพรรค ทำให้โจทก์ทั้งหกและสมาชิกอื่นได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่าการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 10 มกราคม2530 ตามข้อบังคับใหม่ปี 2530 เป็นโมฆะ ให้มีคำสั่งให้กรรมการบริหารพรรคที่บริหารอยู่ในปี 2529 อันเป็นชุดสุดท้ายที่จดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมายจัดประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อเลือกตั้งกรรมการบริหารใหม่
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้รับฟ้องของโจทก์ทั้งหกไว้พิจารณาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งหกมีอำนาจฟ้องหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55บัญญัติว่า “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งหรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้” เห็นว่า ในข้อที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิทางศาลกรณีมีการอ้างว่าหัวหน้าพรรคการเมืองจัดให้พรรคการเมืองกระทำการใด ๆ ที่มิชอบนั้น พระราชบัญญัติพรรคการเมืองพ.ศ. 2524 มาตรา 34, 47, 48 บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะดำเนินการโดยเฉพาะหาได้มีบทบัญญัติใดในพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 ที่บัญญัติให้สมาชิกพรรคการเมืองใช้สิทธิทางศาลไม่ กรณีต่างกับบางเรื่องซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้บุคคลบางคนใช้สิทธิทางศาล เช่น การให้ผู้เลือกตั้งผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522มาตรา 78 การให้กรรมการหรือผู้ถือหุ้นใช้สิทธิร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ของบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1195 และการให้สมาชิกใช้สิทธิร้องขอให้เพิกถอนมติของสมาคมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 100 เป็นต้น เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติให้สมาชิกพรรคการเมืองใช้สิทธิทางศาลได้ในกรณีดังกล่าวในฐานะสมาชิกพรรคจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีสิทธิอย่างใดที่จะนำคดีมาให้ศาลวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคจำเลยที่ 1 ในวันที่ 10 มกราคม 2530 ตามข้อบังคับใหม่ปี 2530เป็นโมฆะ ส่วนในข้อที่ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งหกตามกฎหมายแพ่งหรือไม่นั้น ตราบใดที่โจทก์ทั้งหกยังไม่ได้ถูกบังคับให้กระทำหรืองดเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยอาศัยอำนาจจากการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคจำเลยที่ 1 ใหม่สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ทั้งหกมีอยู่อย่างไรก็มีอยู่อย่างนั้นข้ออ้างที่ว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าพรรคดำเนินการประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคโดยมิชอบ จึงเป็นเรื่องของความขัดแย้งกันในทางความคิดเท่านั้น กรณียังไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งหกตามกฎหมายแพ่ง โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share