คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2466/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องด้วยวาจาปรากฏตามบันทึกคำฟ้องประกอบกับหลักฐานการฟ้องคดีด้วยวาจาว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2518 เวลา 01.30 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยได้บังอาจจำหน่ายสุราแม่โขงและเบียร์ให้ ส.และว. โดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ศาลชั้นต้นมิได้บันทึกความที่ว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตขายสุราไว้ก็ตาม ก็ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราประเภทใดประเภทหนึ่งระหว่างประเภทที่ 3 ถึงประเภทที่ 6 ตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 จึงจะต้องห้ามมิให้ขายสุรานอกเหนือเวลาที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 2 กำหนดไว้ หากจำเลยมิใช่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขายสุราตามความในกฎหมายว่าด้วยสุรา จำเลยก็ขายสุราไม่ได้เลย ไม่ว่าภายในหรือนอกเวลาที่กำหนด ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องด้วยวาจาปรากฏตามบันทึกคำฟ้องประกอบกับบันทึกหลักฐานการฟ้องคดีด้วยวาจาว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2518 เวลา 01.30 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยได้บังอาจจำหน่ายสุราแม่โขงและเบียร์ให้นายสุชาติ เลาหะชนุพันธ์ และนายวิบูลย์ อมรตระกูล โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 2 และข้อ 4

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 ข้อ 2 และข้อ 4 เมื่อลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว ให้ปรับ 2,000 บาท ไม่ชำระกักขังแทน

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษปรับน้อยลงอีก

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องด้วยวาจาว่า”จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตขายสุรา หรือกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ได้รับใบอนุญาต” ฟ้องของโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบฐานนี้ เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์กล่าวไว้ในบันทึกหลักฐานการฟ้องคดีด้วยวาจาว่าจำเลยบังอาจจำหน่ายสุราแม่โขงและเบียร์ให้นายสุชาติ เลาหะชนุพันธ์และนายวิบูลย์ อมรตระกูล โดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ศาลชั้นต้นมิได้บันทึกความที่ว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตขายสุราไว้ก็ตาม ก็ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยจะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราประเภทใดประเภทหนึ่งระหว่างประเภทที่ 3 ถึงประเภทที่ 6 ตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 จึงต้องห้ามมิให้ขายสุรานอกเหนือเวลาที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16พฤศจิกายน 2515 ข้อ 2 กำหนดไว้ หากจำเลยมิใช่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขายสุราตามความในกฎหมายว่าด้วยสุรา จำเลยก็ขายสุราไม่ได้เลยไม่ว่าภายในหรือนอกเวลาที่กำหนดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19 ให้ศาลบันทึกใจความแห่งคำฟ้องไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องบันทึกใจความแห่งคำฟ้องไว้โดยละเอียด ดังเช่นการฟ้องเป็นหนังสือและก่อนบันทึกคำฟ้องศาลอาจสอบถามโจทก์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงอื่น ๆ ที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดได้ แล้วศาลก็บันทึกแต่เฉพาะใจความของคำฟ้องที่สำคัญเท่านั้น ฉะนั้นบันทึกคำฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องด้วยวาจาประกอบกับบันทึกหลักฐานการฟ้องคดีด้วยวาจาที่โจทก์ส่งศาลในคดีนี้ จึงมีใจความครบองค์ประกอบความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 2 แล้ว ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

เนื่องจากศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยปัญหาที่จำเลยขอลดหย่อนผ่อนโทษศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษให้ปรับจำเลยก่อนลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว เป็นเงิน 4,000 บาทนั้น สูงเกินไป พิเคราะห์ตามรูปคดีแล้วเห็นสมควรกำหนดโทษปรับจำเลยเพียง 2,000 บาท ก็เพียงพอแล้ว

พิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 253ข้อ 2 และข้อ 4 ให้ปรับ 2,000 บาท ฯลฯ

Share