แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยออกเช็ค 4 ฉบับลงวันที่คนละวันกันชำระหนี้แก่โจทก์ธนาคารไม่จ่ายเงินเมื่อถึงกำหนดตามเช็คทั้ง 4 ฉบับแสดงว่าจำเลยมีเจตนาที่จะให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คแต่ละฉบับแตกต่างแยกจากกันได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนมกราคม 2536เวลากลางวันจำเลยได้กระทำผิดหลายกรรมต่างกัน โดยจำเลยออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาบางจากจำนวน 1 ฉบับ และสาขาอ่อนนุช จำนวน 3 ฉบับรวม 4 ฉบับชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 26 มกราคม 2536จำนวนเงิน 422,000 บาท ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 20 มกราคม 2536จำนวนเงิน 42,500 บาท ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 27 มกราคม 2536จำนวนเงิน 25,312 บาท ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2536จำนวนเงิน 47,000 บาท เมื่อเช็คทั้ง 4 ฉบับถึงกำหนดโจทก์นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง 4 ฉบับ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกกระทงแรก 1 ปี กระทงที่สองถึงที่สี่กระทงละ 3 เดือนรวมจำคุก 21 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 14 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งกับขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยกระทงแรก 9 เดือน กระทงที่สองถึงที่สี่กระทงละ 1 เดือนรวมจำคุก 12 เดือน ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม เห็นว่า จำเลยออกเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับลงวันที่คนละวันกันชำระหนี้แก่โจทก์ ธนาคารไม่จ่ายเงินเมื่อถึงกำหนดตามเช็คทั้ง 4 ฉบับ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาที่จะให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คแต่ละฉบับหรือไม่แตกต่างจากกันได้การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91”
พิพากษายืน