คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2460/2558

แหล่งที่มา :

ย่อสั้น

ค่าประเมินความเสียหายของรถเป็นค่าใช้จ่ายในการตีราคาวินาศภัยซึ่งโจทก์ผู้รับประกันภัยต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยจึงไม่อาจเรียกร้องเงินดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 878

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 263,622 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 255,126 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 194,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 250,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ภศ 9770 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนางชลิศา มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2545 ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2546 จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุ นายสุนทรขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปตามถนนสุขุมวิท จากทางด้านเขาไม้แก้วมุ่งหน้าไปทางแยกกระทิงลายในช่องเดินรถที่ 2 นับจากซ้ายมือ เมื่อมาถึงบริเวณหน้าสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ท – 3858 ชลบุรี ของจำเลยที่ 2 ตามมาในทิศทางและช่องเดินรถเดียวกันด้วยความประมาทโดยขับรถด้วยความเร็วสูง จนไม่สามารถชะลอความเร็วของรถและหยุดรถได้ทัน ทำให้จำเลยที่ 1 ขับรถพุ่งชนท้ายรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย ผู้เอาประกันภัยเห็นว่ารถยนต์ได้รับความเสียหายมากและขอคืนทุนประกัน โจทก์จึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยคืนทุนประกันให้แก่ผู้เอาประกันภัยเป็นเงิน 370,500 บาท โจทก์ซื้อซากรถยนต์จากผู้เอาประกันภัย 19,500 บาท และขายซากรถยนต์ไปเป็นเงิน 144,300 บาท สำหรับค่าซื้อซากรถยนต์คืนจากผู้เอาประกันภัย 19,500 บาท ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดให้และสำหรับค่าเสียหายซึ่งเป็นค่ารถยก ค่าจอดและดูแลรถของรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 3,800 บาท จำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา ข้อเท็จจริงในส่วนค่าเสียหายดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงประการเดียวว่า ค่าเสียหายในส่วนของรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้มีเพียงใด โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า รถยนต์ได้รับความเสียหายไม่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิง แม้โจทก์จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยคืนทุนประกันให้ผู้เอาประกันภัยไปเป็นเงิน 370,500 บาท และหักค่าขายซากรถยนต์ 144,300 บาท ออกแล้ว โจทก์ก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวได้ จำเลยที่ 2 คงต้องรับผิดในส่วนค่ารถยนต์เพียง 190,000 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดเท่านั้น เห็นว่า รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายอย่างมากทางด้านท้าย ซึ่งจากภาพถ่ายจะเห็นว่ากระโปรงด้านท้ายรถยุบงอไปจนถึงที่นั่งผู้โดยสารด้านหลัง หลังเกิดเหตุ โจทก์ให้ศูนย์ฮอนด้าศรีนครินทร์ประเมินรายการเสียหายและราคาค่าซ่อมรถ ปรากฏว่ามีรายการเปลี่ยนอะไหล่ถึง 156 รายการ และค่าแรงซ่อม 30 รายการ รวมเป็นเงิน 324,880.89 บาท ซึ่งราคาค่าซ่อมเกือบจะเท่าจำนวนทุนประกันและแม้ว่าศูนย์ฮอนด้าชลบุรีจะเคยเสนอราคาค่าซ่อมไว้โดยเสนอรายการเปลี่ยนอะไหล่ 93 รายการ และค่าแรงซ่อม 35 รายการ คิดเป็นเงิน 198,082.69 บาท แต่นายธรรมรัตน์พนักงานผู้ประเมินราคาของศูนย์ฮอนด้าชลบุรี ก็เบิกความยืนยันว่า แม้ว่าจะมีการประเมินราคาดังกล่าวไว้แต่ความเสียหายของรถยนต์ไม่สามารถซ่อมแซมได้เนื่องจากศูนย์ของรถยนต์ผิดรูป หากซ่อมเสร็จแล้วนำไปใช้งานเวลาขับเข้าโค้งรถยนต์อาจจะพลิกควํ่าได้ โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ถามค้านหรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ดังนี้ แสดงว่าการใช้วิธีการซ่อมย่อมไม่คุ้มกับความเสียหายของรถยนต์และแม้จะทำการซ่อมไปรถยนต์ก็ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยปลอดภัย เช่นนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิงและกำหนดค่าเสียหายในส่วนของรถยนต์ให้ 245,700 บาท เหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย เมื่อรวมกับค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าที่จอดและดูแลรถที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้ 3,800 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ 249,500 บาท สำหรับค่าประเมินความเสียหายของรถยนต์เป็นเงิน 1,000 บาท นั้น เป็นค่าใช้จ่ายในการตีราคาวินาศภัย ซึ่งโจทก์ผู้รับประกันภัยต้องเป็นผู้ออก โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยจึงไม่อาจเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 878 และกรณีเป็นเรื่องการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่ 2 ฎีกาฝ่ายเดียว ศาลฎีกาก็ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 249,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share