คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2459/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 98/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “กรณีที่มีการฟ้องคดีผู้ถูกกล่าวหาเป็นคดีอาญาต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดี ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดียึดรายงานและสำนวนคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณาและอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ในการดำเนินคดีตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยใช้ระบบไต่สวน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” แสดงว่าจะนำบทบัญญัติมาตราดังกล่าวตามวรรคสองมาใช้บังคับได้ต่อเมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ออกระเบียบในเรื่องนี้มาใช้บังคับแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายังไม่ได้ออกระเบียบการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวน ที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไต่สวนมูลฟ้อง และสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองจนเสร็จและพิพากษาคดีแล้ว โดยที่โจทก์ไม่ได้ยกข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นโต้แย้งคัดค้านศาลชั้นต้นว่าดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบ จนศาลชั้นต้นพิพากษาคดี โจทก์เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แม้จะกล่าวอ้างว่าศาลดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะส่งเพิกถอนได้ แต่ก็เป็นดุลยพินิจของศาล เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยมิได้สั่งเพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและพิจารณาพิพากษาต่อไป จึงฟังได้ว่าศาลอุทธรณ์ดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 149, 154, 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และ 154 ประกอบมาตรา 83 ให้ประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คดีขาดอายุความให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาและยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นรอการพิพากษาในประเด็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และ 154 ไว้ก่อน จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาในประเด็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ศาลฎีกาพิพากษายืน
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดโดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีจากการขายทอดตลาดตามกฎหมายโดยทุจริต ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 44,850,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 55,110,205.48 บาท รวมเป็นเงิน 99,960,205.48 บาท ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า คดีนี้พนักงานอัยการมิได้เป็นโจทก์ ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้ดำเนินการพิจารณาและพิพากษาตามรูปคดีต่อไป จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา และยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้รอฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในปัญหาชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่าฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขาดอายุความหรือไม่ กับพิพากษายกคำร้องคดีส่วนแพ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า คดีส่วนอาญาให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 154 ประกอบมาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และผู้ร้องฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบังคับคดี ส่วนจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมบังคับคดี ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้มีหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในสำนวนของกองบังคับคดีแพ่งเฉพาะสำนวนที่มีหมายเลขคดีแดงหรือหมายเลขคดีดำที่เป็นเลขคู่และหน้าที่อื่น เมื่อปี 2534 ศาลแพ่งได้มีหมายบังคับคดีถึงเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ให้ยึดทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาด แบ่งเงินที่ขายได้ให้โจทก์ตามส่วนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 16932/2528 ระหว่าง นายหาญณรงค์ โจทก์ นางละออศรี ที่ 1 กับพวก จำเลย แต่ทรัพย์มรดกบางส่วน คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 418 ตำบลคลองซอยที่ 1 ฝั่งตะวันออก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และที่ดินโฉนดเลขที่ 1734 ตำบลคลองหนึ่ง (คลอง 1 ตก) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดธัญบุรี ศาลแพ่งจึงมีหนังสือขอให้ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีศาลจังหวัดธัญบุรีทำการยึดและขายทอดตลาดแทนเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีศาลจังหวัดธัญบุรียึดที่ดินทั้งสองแปลงออกขายทอดตลาด โดยผู้แทนโจทก์และผู้แทนจำเลยที่ 1 คดีดังกล่าวเป็นผู้นำยึด มีนายวรวุฒิเป็นผู้สู้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 897,000,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายและศาลจังหวัดธัญบุรีอนุญาตให้ขาย นายวรวุฒิวางเงินค่ามัดจำค่าซื้อทรัพย์ 70,000,000 บาท แต่ผิดนัดไม่ชำระเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือภายในกำหนด ศาลจังหวัดธัญบุรีจึงมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาด ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวยื่นคำร้องขอถอนการยึดทรัพย์พร้อมชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายร้อยละ 3.5 เป็นเงิน 7,393,383 บาท โดยขอให้ส่งเงิน 70,000,000 บาท แก่กรมบังคับคดีเพื่อผู้มีส่วนได้เสียจะขอรับจากกรมบังคับคดีต่อไป ศาลจังหวัดธัญบุรีอนุญาตให้ถอนการยึดและได้ส่งเงิน 70,000,000 บาท ไปให้กรมบังคับคดีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2537 โดยไม่หักค่าธรรมเนียมใด ๆ วันเดียวกันนั้น โจทก์และบริษัทบุญภูมิ จำกัด ยื่นคำแถลงขอรับเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี กองบังคับคดีแพ่ง 2 กรมบังคับคดี โดยบริษัทบุญภูมิ จำกัด อ้างว่าที่ดินส่วนของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวได้โอนมาเป็นของบริษัทบุญภูมิ จำกัด แล้ว โดยจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวยื่นคำแถลงไม่คัดค้านการที่โจทก์และบริษัทบุญภูมิ จำกัด ขอรับเงิน นายประยุทธ ผู้อำนวยการกองบังคับคดีแพ่ง 2 ทำความเห็นเสนอจำเลยที่ 2 ผ่านจำเลยที่ 1 ว่าค่าธรรมเนียมขายทอดตลาดที่ดินจะต้องเรียกเก็บจากเงินที่ศาลจังหวัดธัญบุรีส่งมาร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่ขาย ตามที่เคยปฏิบัติมาดังเช่นคดีหมายเลขแดงที่ 12112/2527 ระหว่างบริษัทสยามกลการ จำกัด โจทก์ นายสุรพงศ์ จำเลย วันที่ 24 ตุลาคม 2537 จำเลยที่ 1 ทำความเห็นเสนอจำเลยที่ 2 ว่า ค่าธรรมเนียมในกรณีเช่นนี้เป็นปัญหาโต้เถียงและความเห็นไม่ค่อยลงรอยกันนัก อีกทั้งเพื่อความแน่ชัดในการถือปฏิบัติ เห็นสมควรประชุมเพื่อหาหลักปฏิบัติสำหรับเรื่องนี้ให้ชัดเจนต่อไป จำเลยที่ 2 มีคำสั่งเห็นชอบตามที่จำเลยที่ 1 วันที่ 27 ตุลาคม 2537 จำเลยที่ 2 เรียกประชุมผู้บริหารและนิติกรตั้งแต่ระดับ 8 ขึ้นไปของกรมบังคับคดีเพื่อพิจารณาตามข้อเสนอของจำเลยที่ 1 ที่ประชุมมีมติว่าศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดมีผลเท่ากับไม่มีการขาย จึงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมขายทอดตลาดร้อยละ 5 ไม่ได้ ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จ่ายเงิน 70,000,000 บาท แก่บริษัทเมืองใหม่เชียงกงรังสิต จำกัด ผู้รับโอนสิทธิในการรับเงินมาจากคู่ความในคดีดังกล่าว นายถนอมเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโมเดอร์นโฮม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ระหว่างวันที่ 8 ถึง 11 สิงหาคม 2537 บริษัทโมเดอร์นโฮม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้ในราคาหุ้นละ 78 บาท วันที่ 5 ตุลาคม 2537 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดให้หุ้นสามัญของบริษัทโมเดอร์นโฮม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 สั่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟแนนซ์ จำกัด (มหาชน) ที่ตนเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นไว้ ให้ขายหุ้นพิพาทเป็นหุ้นบริษัทโมเดอร์นโฮม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 04460100003185 จำนวน 10,000 หุ้น หุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นเดิมของนายถนอม แต่ใส่ชื่อนางสาวกัลยาเป็นผู้ถือหุ้นแทน และนายสุรชัยผู้รับมอบอำนาจของบริษัทโมเดอร์นโฮม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ไปรับใบหุ้นพิพาทมาจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2537 เมื่อขายหุ้นพิพาทได้แล้ว บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟแนนซ์ จำกัด (มหาชน) สั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 865,650 บาท ให้จำเลยที่ 1 วันที่ 7 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 นำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีของตนที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คจากบัญชีดังกล่าวจำนวนเงิน 432,825 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 วันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 2 นำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของตนที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนจรัลสนิทวงศ์ ต่อมาปี 2543 โจทก์ได้รับการร้องเรียนจากนายชำนาญ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา และได้รับการร้องเรียนเป็นบัตรสนเท่ห์จากผู้ใช้ชื่อว่าข้าราชการกรมบังคับคดี ในเรื่องที่จำเลยทั้งสองไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมขายทอดตลาดร้อยละ 5 โจทก์เห็นว่ามีมูล จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง โจทก์พิจารณารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการดังกล่าวแล้วมีมติว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองมีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 154 และ 157 ตามที่ถูกกล่าวหา จากนั้นได้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสอง แต่อัยการสูงสุดเห็นว่า รายงาน เอกสาร และความเห็นดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ อัยการสูงสุดกับโจทก์จึงตั้งคณะทำงานพิจารณาร่วมกัน แต่ไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้เองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคสอง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์ดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 98/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “กรณีที่มีการฟ้องคดีผู้ถูกกล่าวหาเป็นคดีอาญาต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ในการพิจารณาคดี ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดียึดรายงานและสำนวนคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณาและอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นควร” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ในการดำเนินคดีตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยใช้ระบบไต่สวน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” แสดงว่าจะนำบทบัญญัติมาตราดังกล่าวตามวรรคสองมาใช้บังคับได้ต่อเมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ออกระเบียบในเรื่องนี้มาใช้บังคับแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายังไม่ได้ออกระเบียบการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวน และคดีนี้ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไต่สวนมูลฟ้อง และสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองจนเสร็จและพิพากษาคดีแล้ว แม้ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 จะมีผลใช้บังคับ โจทก์ก็ไม่ได้ยกกฎหมายดังกล่าวขึ้นโต้แย้งคัดค้านศาลชั้นต้นว่าดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบ จนศาลชั้นต้นพิพากษาคดี โจทก์เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แม้ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวจะเป็นการกล่าวอ้างว่าศาลดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนได้ แต่การที่จะสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของศาลที่จะสั่งได้ตามที่เห็นสมควร เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไต่สวนมูลฟ้องและสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองจนเสร็จสิ้นและพิพากษาคดีแล้ว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยมิได้สั่งเพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น และพิจารณาพิพากษาคดีไป ฟังได้ว่าศาลอุทธรณ์ดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีโดยมิได้ยึดถือรายงานและสำนวนคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดว่า ศาลอุทธรณ์ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีไปอย่างไร ที่เป็นการไม่ยึดถือรายงานและสำนวนคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม โดยทุจริตละเว้นไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียค่าธรรมเนียมนั้นมิต้องเสีย หรือเสียน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 หรือไม่ เห็นว่า การบังคับคดียึดและขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวของศาลจังหวัดธัญบุรี เป็นการบังคับคดีแทนศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 16932/2528 ระหว่างนายหาญณรงค์ โจทก์ นางละออศรี ที่ 1 กับพวก จำเลยซึ่งตามหนังสือของศาลแพ่ง ที่ ยธ. 0208/50057 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2534 ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประจำศาลจังหวัดธัญบุรีช่วยยึดและขายทอดตลาดทรัพย์แทน มีข้อความระบุว่า “เมื่อจัดการเสร็จแล้วขอให้ส่งสำเนาหลักฐานการยึดทรัพย์ พร้อมกับประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ ไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ก่อนวันขายไม่น้อยกว่า 15 วัน เงินค่าขายทอดตลาดทรัพย์ เมื่อหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายชั้นบังคับคดีไว้แล้ว เหลือสุทธิเท่าใด ขอให้ส่งกองยึดอายัดและจำหน่ายทรัพย์สิน กรมบังคับคดี โดยตรง” เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีศาลจังหวัดธัญบุรียึดที่ดินทั้งสองแปลงออกขายทอดตลาด มีนายวรวุฒิเป็นผู้สู้ราคาสูงสุด เป็นเงิน 897,000,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายและศาลจังหวัดธัญบุรีอนุญาตให้ขายโดยนายวรวุฒิวางเงินค่าซื้อทรัพย์บางส่วนเป็นเงิน 70,000,000 บาท แต่ผิดนัดไม่ชำระเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือภายในกำหนด ศาลจังหวัดธัญบุรีจึงมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาด ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวยื่นคำร้องขอถอนการยึดทรัพย์ ศาลจังหวัดธัญบุรี คิดค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายร้อยละ 3.5 เป็นเงิน 7,383,383 บาท และส่งเงินค่าซื้อทรัพย์บางส่วนที่ผู้ซื้อทรัพย์วางไว้จำนวน 70,000,000 บาท ที่ยังค้างอยู่ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี โดยไม่หักค่าธรรมเนียมใด ๆ ให้แก่กรมบังคับคดีเพื่อดำเนินการต่อไป การที่กรมบังคับคดีโดยจำเลยทั้งสองเมื่อได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไว้แล้ว ได้ดำเนินการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับซึ่งมีสิทธิรับเงินไป จึงเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลที่มีการคืนเงินหลังหักค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายที่มีการบังคับคดีไว้แล้ว ที่โจทก์กล่าวอ้างว่า การขายทอดตลาดเสร็จสมบูรณ์แล้วจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาดร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่ายได้ตามบัญชีค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี ตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งด้วย ซึ่งเป็นคนละส่วนกับค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายร้อยละ 3.5 เห็นว่า ตามตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุคดีนี้ ได้บัญญัติเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีไว้ว่า 1. ค่าธรรมเนียมขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์ที่ยึดหรืออายัด จำนวนร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่ายได้… 3. ค่าธรรมเนียมเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย จำนวนร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด จะเห็นได้ว่า กฎหมายกำหนด การเก็บค่าธรรมเนียมในการยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินไว้กว้าง ๆ สองกรณี กล่าวคือ กรณียึดทรัพย์แล้วขายหรือจำหน่ายได้สำเร็จ คิดร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่ายได้ แต่กรณียึดทรัพย์แล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย คิดร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด แต่การขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดในคดีนี้ แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายและศาลอนุญาตให้ขายทรัพย์แก่ผู้สู้ราคาสูงสุดแล้ว แต่ผู้สู้ราคาสูงสุดชำระเงินค่าซื้อทรัพย์บางส่วนแล้วไม่ชำระส่วนที่เหลือ จนศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาด ต่อมามีการถอนการยึดโดยเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายร้อยละ 3.5 แล้ว จึงมีปัญหาว่าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาดร้อยละ 5 อีกด้วยหรือไม่ ซึ่งกรณีดังกล่าวยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินเป็นบรรทัดฐานไว้ เมื่อนายประยุทธ ผู้อำนวยการกองบังคับคดีแพ่ง 2 เสนอความเห็นว่าควรเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาดในอัตราร้อยละ 5 ของจำนวนที่ขายทอดตลาด ตามแนวทางปฏิบัติในคดีหมายเลขแดงที่ 12112/2527 ของศาลแพ่ง จำเลยทั้งสองก็ได้เรียกประชุมผู้บริหารและนิติกรกรมบังคับคดีเพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมลงมติว่า เนื่องจากศาลมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดซึ่งมีผลเท่ากับไม่มีการขาย จึงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขายร้อยละ 5 ไม่ได้ การประชุมดังกล่าวเป็นอำนาจของจำเลยทั้งสองที่เป็นผู้บริหารหน่วยงานที่จะเรียกประชุมพิจารณาเรื่องที่มีปัญหาในการปฏิบัติงานในการตีความการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมาย ซึ่งไม่ปรากฏว่า มีการชักจูงโน้มน้าวให้ที่ประชุมมีมติไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาด และไม่มีผู้ใดกล่าวอ้างว่าการประชุมดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยคืนเงิน 70,000,000 บาท ให้แก่ผู้ซื้อไปโดยไม่หักค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาดร้อยละ 5 ตามมติที่ประชุมของกรมบังคับคดี โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนหรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายต่อตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม โดยทุจริตละเว้นไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียค่าธรรมเนียมนั้นมิต้องเสีย หรือเสียน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมาย กระทำทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่โดยสั่งคืนเงิน 70,000,000 บาท ให้แก่ผู้รับโอนสิทธิจากคู่ความในคดีที่มีการบังคับคดีโดยมิได้หักค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีจากการขายทอดตลาด โดยได้รับหุ้นพิพาทจากนายถนอมเป็นค่าตอบแทน ทำให้กรมบังคับคดีเสียหายไม่ได้รับเงินค่าธรรมเนียมในการขายทอดตลาดดังกล่าว ซึ่งคู่ความได้สืบพยานและศาลล่างทั้งสองได้พิพากษาคดีในประเด็นดังกล่าวแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจเพราะโจทก์ยังไม่มีสิทธิรับเงินเนื่องจากการบังคับคดียังไม่แล้วเสร็จ และไม่ได้เสนอศาลแพ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเงินเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้กล่าวในฟ้อง และเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำการโดยทุจริต ไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมขายทอดตลาด และไม่ได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อผู้ร้อง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share