คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2457/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขอกุญแจเปิดลิ้นชักโต๊ะจากผู้เสียหายแล้วหยิบอาวุธปืนออกมาจากลิ้นชักโต๊ะขู่ผู้เสียหายให้มอบเงินให้ ดังนี้ การที่จำเลยลักอาวุธปืนและใช้อาวุธปืนนั้นขู่บังคับเอาทรัพย์อื่นอันเป็นการชิงทรัพย์ผู้เสียหายนั้น จำเลยได้กระทำโดยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อทรัพย์ทั้งหมดมาแต่ต้น จึงเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว
แม้จำเลยจะขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพตามฟ้องเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วก็ตาม แต่จำเลยยังได้แถลงรับข้อเท็จจริงบางประการจนโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานอีกต่อไป ดังนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน แต่ถือได้ว่าเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลชอบที่จะลดโทษให้แก่จำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักอาวุธปืนพกหมายเลขทะเบียน สพ.๖/๐๐๙๑๑๙ ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ภายหลังกระทำผิดฐานลักทรัพย์แล้วจำเลยลักเอาเงินสด ๓๐ บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยใช้อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ลักไปขู่บังคับผู้เสียหายว่าจะใช้ยิงประทุษร้ายต่อผู้เสียหาย และจำเลยขู่บังคับผู้มีชื่อขับรถยนต์เป็นยานพาหนะพาจำเลยหลบหนีไป จำเลยมีอาวุธปืนของผู้เสียหายซึ่งใช้ยิงได้ กับมีกระสุนปืนขนาดเดียวกันใช้ยิงได้ไว้ในครอบครองของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยพกอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๓๓๙, ๓๔๐ ตรี, ๙๑, ๓๗๑พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิให้จำเลยคืนอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือใช้ราคาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและเงินสด ๓๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วจำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ เป็นให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกประการ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไป เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และการที่จำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวขู่บังคับเอาเงินจากผู้เสียหายแล้วบังคับให้ผู้อื่นขับรถไปส่ง เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนและใช้ยานพาหนะหลบหนี กับจำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะด้วยแต่อาวุธปืนดังกล่าวได้มาจากการลักทรัพย์ การมีไว้ในครอบครองและพกพาไปโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานลักทรัพย์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๓๓๙, ๓๔๐ ตรี, ๙๐, ๙๑, ๓๗๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิเรียงกระทงลงโทษ ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๓ ปี ฐานชิงทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนและใช้ยานพาหนะจำคุก ๑๕ ปี รวมโทษจำคุก ๑๘ ปี จำเลยให้การรับสารภาพภายหลังสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก ๑๓ ปี ๖ เดือน ให้จำเลยคืนอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือใช้ราคา กับคืนเงิน ๓๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้ง ๔ กระทง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๙๐ กับจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗๒ จำคุก ๒ ปี ลงโทษตามมาตรา ๗๒ ทวิจำคุก ๑ ปี รวมจำคุก ๑๘ ปี ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม คงจำคุก ๑๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่าความผิดฐานลักอาวุธปืนและชิงทรัพย์เป็นความผิดต่างกรรมกัน ขอให้เรียงกระทงลงโทษ และขอให้ลดโทษจำเลยเพียงหนึ่งในสี่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างด้วยกันกับผู้เสียหายขับรถยนต์มาจอดที่หน้าที่พักแล้วจำเลยขอกุญแจเปิดลิ้นชักโต๊ะจากผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายส่งกุญแจให้ จำเลยหยิบอาวุธปืนสั้นของผู้เสียหายจากลิ้นชักโต๊ะมาขู่ผู้เสียหายให้มอบเงิน ๓๐ บาทให้แก่จำเลย เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ลักเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายในลิ้นชักและใช้อาวุธปืนนั้นขู่บังคับผู้เสียหายให้ส่งทรัพย์อื่นให้อีก จำเลยได้กระทำโดยมีเจตนาอันแท้จริงต่อผลเพียงอย่างเดียว คือมุ่งประสงค์ต่อทรัพย์ทั้งหมดมาแต่ต้นการที่จำเลยลักอาวุธปืนและชิงเอาทรัพย์อื่นของผู้เสียหายอีกจึงเป็นการกระทำในคราวเดียวกันนั้นเอง อันเป็นความผิดกรรมเดียว หาทำให้การกระทำของจำเลยในคราวเดียวกันนั้นแยกเป็นความผิดฐานลักทรัพย์กรรมหนึ่งและชิงทรัพย์อีกกรรมหนึ่งไม่แม้โจทก์จะบรรยายแยกการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลยมาในฟ้องเป็นข้อ (ก) และข้อ (ข)เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และจำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม ศาลจะลงโทษหลายกรรมเป็นกระทงความผิดไม่ได้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ควรลดโทษให้แก่จำเลยถึงหนึ่งในสามนั้น เฉพาะข้อหามีอาวุธปืน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย และลงโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๘ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ สำหรับข้อหาชิงทรัพย์และพาอาวุธปืนนั้น เห็นว่าเมื่อสืบพยานโจทก์ได้ ๔ ปาก จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ เป็นให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการและจำเลยยังได้แถลงยอมรับข้อเท็จจริงบางประการ จนโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานอีกต่อไป ดังนี้แม้จำเลยจะรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน แต่คำรับสารภาพของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการให้ความรู้แก่ศาล อันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามจึงเป็นการเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว
พิพากษายืน.

Share