คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2456/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 มิได้บัญญัติห้ามโดยเด็ดขาดมิให้รับฟังพยานบอกเล่าเสียเลยทีเดียว เมื่อพยานบอกเล่านั้นกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล ศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้
เอกสารที่พนักงานสอบสวนทำขึ้นตามหน้าที่ที่ปฏิบัติราชการเป็นเอกสารราชการ เมื่อฝ่ายจำเลยมิได้โต้แย้งในวันสืบพยานโจทก์ถึงความมีอยู่และแท้จริงแห่งเอกสารเหล่านั้นเป็นอย่างอื่นแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงในเนื้อหาของเอกสารนั้นขึ้นและใช้ดุลพินิจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 2กันยายน 2522 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 บ-1819 ของจำเลยที่ 2 กลับจากไปส่งเชื้อเห็ดฟางในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อขับขี่รถมาถึงที่เกิดเหตุก็ชนนายสมนึกบุตรของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย โดยความประมาทเลินเล่อเนื่องจากขับรถเร็ว

พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า พยานบุคคลซึ่งโจทก์นำมาสืบเป็นพยานบอกเล่า รับฟังไม่ได้ เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 86 และมาตรา 95 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 95 มิได้บัญญัติห้ามโดยเด็ดขาดมิให้รับฟังพยานบอกเล่าเสียเลยทีเดียวเมื่อพยานบอกเล่านั้นกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล ศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เอกสารที่โจทก์อ้างเป็นพยาน หมาย จ.1,จ.2, จ.5, จ.7 และ จ.8 มิได้นำผู้ทำเอกสารมาสืบเพื่อทราบถึงที่มาและความต่อเนื่องแล้ว ทำให้คู่ความฝ่ายตรงข้ามเสียเปรียบ เพราะไม่อาจซักค้านถึงความมีอยู่หรือความเป็นอยู่แห่งเอกสารนั้นได้ การรับฟังเอกสารดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเอกสารดังกล่าวคือเอกสารหมาย จ.1 เป็นคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจโทจุรินทร์บุญเจริญในฐานะพนักงานสอบสวนไปสอบสวนในที่เกิดเหตุจัดทำแผนที่เกิดเหตุและบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.2 เป็นคำให้การของนายบุญน้อย แสนสุภา ชั้นสอบสวนที่รู้เห็นเหตุการณ์คดีนี้ เอกสารหมายจ.5 เป็นแผนที่สังเขปที่เกิดเหตุซึ่งร้อยตำรวจโทจุรินทร์ได้จัดทำขึ้น เอกสารหมายจ.7 เป็นรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีนี้ และเอกสารหมาย จ.8 เป็นหมายจับนายบุญช่วง โภคามาตร ผู้ต้องหาที่ขับรถยนต์ชนนายสมนึกถึงแก่ความตายแล้วหลบหนีไป เอกสารเหล่านี้พนักงานสอบสวนได้จัดทำตามหน้าที่ที่ปฏิบัติราชการ จึงเป็นเอกสารราชการ เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้โต้แย้งในวันสืบพยานโจทก์ถึงความมีอยู่และความแท้จริงแห่งเอกสารเหล่านั้นเป็นอย่างอื่นแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงในเนื้อหาของเอกสารเหล่านั้นขึ้น และใช้ดุลพินิจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ฉะนั้นข้ออ้างของจำเลยที่ 2ที่ว่าทำให้จำเลยที่ 2 เสียเปรียบเพราะมิได้ซักค้านผู้ทำเอกสารเหล่านั้นจึงฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share