คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2453/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ อ. กับ จ. กรรมการบริษัทจำเลยลงชื่อมอบอำนาจให้ ถ.ดำเนินคดีแทนบริษัทจำเลย เป็นการกระทำในฐานะผู้แทนบริษัทจำเลยจึงเป็นการกระทำของบริษัทจำเลย แม้ต่อมา อ. จะพ้นจากการเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยไป หนังสือมอบอำนาจฉบับนั้นก็หาระงับไปไม่ ถ. จึงยังมีอำนาจที่จะมอบอำนาจให้ ส. ต่อสู้คดีแทนจำเลยโดยทำคำให้การยื่นต่อศาลได้
จำเลยประสบภาวะการขาดทุนมาก มีความจำเป็นเพียงพอต้องเลิกจ้างลูกจ้าง และจำเลยได้ใช้หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกว่าจะเลิกจ้างผู้ใดก่อนอย่างสมเหตุผล การที่โจทก์เป็นผู้ต้องถูกเลิกจ้างเพราะลากิจ ลาป่วยและมาทำงานสายมากจะถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างบางคนมิได้ เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาได้เลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่า จำเลยประสบภาวะขาดทุน จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง ความจริงจำเลยมิได้ขาดทุน แต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากสามีของโจทก์มีบทบาทในขบวนการแรงงาน เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเงินโบนัสประจำปี ๒๕๒๗ หรือรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ ค่าจ้างและสภาพการจ้างเดิม
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องมาจากจำเลยประสมกับวิกฤติการณ์ผลผลิตของจำเลยไม่อาจจำหน่ายได้ตามเป้าหมาย จำเลยขาดทุนถึง ๔ ปีติดต่อกัน และมีแนวโน้มที่จะขาดทุนต่อไปก่อนที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์นั้นจำเลยเปิดโอกาสให้ลูกจ้างลาออกจากงานเพื่อไปประกอบอาชีพอื่น โดยยินดีจ่ายเงินช่วยเหลือไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยหากจำนวนพนักงานที่สมัครใจลาออกไม่ครบตามจำนวนโครงการที่จำเลยวางไว้ จำเลยจะพิจารณาจากลูกจ้างที่มาปฏิบัติงานสาย ขาดงาน ลากิจและลาป่วยเป็นเกณฑ์ในการเลิกจ้างจนกว่าจะครบจำนวน ปรากฏว่าโจทก์ลากิจมากลาป่วยโดยอ้างอาการป่วยเอง มาทำงานสายบ่อยและขาดงานโดยมิได้ยื่นใบลาให้ถูกต้อง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่านายเสถียร ครุธศรัทธา เป็นผู้ยื่นคำให้การแทนจำเลยตามหนังสือมอบอำนาจของนายถง เหลียนเชียน ผู้จัดการโรงงานลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ โดยนางถง เหลียนเชียน ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยตามหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ ซึ่งนายอีวาโอะ ชิโนดา และนายจินดา วงศ์จริงตรง กรรมการบริษัทจำเลยในขณะนั้นเป็นผู้ลงชื่อแต่ปรากฏว่าขณะนายถง เหลียนเชียน ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายเสถียร ครุธศรัทธา ต่อสู้คดีนี้นั้น นายอีวาโอะ ชิโนดา ได้พ้นจากการเป็นกรรมการของจำเลยไปแล้วนายถง เหลียนเชียน จึงไม่มีอำนาจที่จะมอบอำนาจแก่นายเสถียร ครุธศรัทธากระบวนพิจารณาที่นายเสถียร ครุธศรัทธา ดำเนินมาในคดีนี้จึงเสียไปศาลแรงงานกลางนำพยานหลักฐานของจำเลยมาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์มิได้พิเคราะห์แล้ว การที่นายอีวาโอะ ชิโนดา และนายจินดา วงศ์จริงตรง ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ เป็นการกระทำในฐานะผู้แทนบริษัทจำเลย จึงเป็นการกระทำของบริษัทจำเลย แม้ต่อมานายอีวาโอะ ชิโนดาจะพ้นจากการเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยไป หนังสือมอบอำนาจฉบับนั้นก็หาระงับไปไม่ นายถง เหลียนเชียนจึงยังมีอำนาจที่จะมอบอำนาจให้นายเสถียร ครุธศรัทธา ต่อสู้คดีนี้แทนจำเลยได้
โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ ย่อมเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยขาดทุนจนกระทั่งไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ และจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างบางคน จึงไม่เป็นธรรม พิเคราะห์แล้วได้ความว่า จำเลยขาดทุนติดต่อกันมา ๓ ปีเป็นเงินห้าร้อยล้านบาทเศษทำให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง ๒๕๐ คน จำเลยประกาศชักชวนให้ลูกจ้างลาออกโดยจำเลยจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้ไม่น้อยกว่าค่าชดเชย ลูกจ้างลาออกประมาณ ๑๐๐ คน ไม่ครบจำนวน จำเลยจึงต้องเลิกจ้างลูกจ้างต่อไป จำเลยพิจารณาลูกจ้างที่มาปฏิบัติงานสาย ขาดงาน ลากิจ ลาป่วยมากในรอบปี๒๕๒๖ และลูกจ้างที่มีผลงานอยู่ในระดับต่ำ เป็นเกณฑ์เลิกจ้างก่อนจนกว่าจะครบจำนวน โจทก์เป็นผู้ลากิจลาป่วยและมาทำงานสายมาก ดังนี้เห็นว่า จำเลยขาดทุนมาก มีความจำเป็นเพียงพอต้องเลิกจ้างลูกจ้าง และจำเลยได้ใช้หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกว่าจะเลิกจ้างผู้ใดก่อนอย่างสมเหตุผล การที่โจทก์เป็นผู้ต้องถูกเลิกจ้างจะถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างบางคนมิได้ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.

Share