คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2452/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้มีชื่อนำรถแท็กซี่มาจดทะเบียนเป็นชื่อของบริษัทจำเลยที่ 2ซึ่งมีวัตถุประสงค์ประกอบการเดินรถยนต์ บรรทุกคนโดยสาร แล้วจำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถคันดังกล่าวออกวิ่งรับคนโดยสารโดยมีตรา บริษัทจำเลยที่ 2 ติดอยู่ข้างรถ และจำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์จากการนี้ด้วย ดังนี้ เท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ผู้ได้รับความเสียหายจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2ได้ขับรถแท็กซี่โดยประมาทชนโจทก์ ขอให้ใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1ให้การว่า โจทก์มีส่วนประมาท และค่าเสียหายสูงเกินความจริงจำเลยที่ 2 ให้การว่านางสาวฤทัยเจ้าของรถแท็กซี่คันดังกล่าวนำรถมาวิ่งในนามของจำเลยที่ 2 โดยเสียค่าธรรมเนียมให้คันละ 60 บาทต่อเดือน เพราะไม่อาจวิ่งรับจ้างโดยอิสระได้ จำเลยที่ 1 เช่ารถคันเกิดเหตุไปจากจำเลยที่ 2 เป็นประจำทุกวัน และไม่ใช่ตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 ทั้งเหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความประมาทของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย จำนวน 101,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีส่วนประมาทด้วย แต่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายกระทำการประมาทมากกว่าโจทก์ และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1หรือไม่ว่า “ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งว่าจำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการเดินรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารในกรุงเทพมหานคร แท็กซี่คันเกิดเหตุนี้นางฤทัย เลิศสรรค์ศรัญย์สมาชิกของจำเลยที่ 2 ได้นำมาจดทะเบียนเป็นชื่อของจำเลยที่ 2แล้วนำออกวิ่งรับคนโดยสารในนามของบริษัทแท็กซี่สะพานเหลือง จำกัดซึ่งเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 โดยมีตราของจำเลยที่ 2 ติดอยู่ข้างรถโดยเปิดเผย และจำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์จากนางฤทัยในการนำแท็กซี่คันเกิดเหตุเข้าร่วมดังกล่าว เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1จะไม่ได้เป็นลูกจ้างได้รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 2 ยอมให้มีการจดทะเบียนแท็กซี่คันเกิดเหตุเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 แล้วยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำแท็กซี่คันดังกล่าวออกวิ่งรับคนโดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย โดยจำเลยที่ 2ได้รับผลประโยชน์ในการนี้ด้วย เท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 นั่นเอง บุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบการเดินรถยนต์รับจ้างสาธารณะรับบรรทุกคนโดยสารในกิจการของจำเลยที่ 2 เอง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน และโดยเหตุที่หนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์นี้เป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นฝ่ายฎีกาศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 ประกอบด้วยมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 67,333.33บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย

Share