คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 245/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎหมายเก่าที่ใช้อยู่ขณะกระทำผิดมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทส่วนกฎหมายใหม่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองแสนบาทกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ต่างเป็นคุณต่อผู้กระทำผิด แล้วแต่จะดูในแง่ขั้นสูงหรือขั้นต่ำของโทษ ถ้าศาลจะลงโทษจำคุกในอัตราขั้นสูงต้องใช้กฎหมายฉบับแรกเพราะเป็นคุณแก่จำเลย แต่ถ้าจะจำคุกจำเลยในอัตราขั้นต่ำต้องใช้กฎหมายฉบับหลังเพราะเป็นคุณแก่จำเลย คดีนี้ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี การวางโทษจึงอยู่ในระดับที่ใช้กฎหมายเก่าก็ได้หรือใช้กฎหมายฉบับใหม่ก็ได้ควรใช้กฎหมายเก่าอันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำผิดบังคับ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1292/2500)
จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้าน ป. เป็นน้องเขยของภริยาจำเลยอาศัยอยู่ในบริเวณรั้วเดียวกันกับบ้านจำเลย และไม่มีรั้วกั้นระหว่างบ้านทั้งสอง ป. มีอาชีพทำโต๊ะและประตูไม้ขายซึ่งต้องใช้ไม้ปริมาณมาก เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบไม้หวงห้ามของกลางที่ยุ้งข้าวและห้องเก็บของใต้ถุนบ้านจำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งไม้ของกลาง โดยจำเลยรู้ว่าเป็นไม้ที่ได้มาโดยผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯซึ่งเป็นความผิดฐานเป็นตัวการตาม มาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติ ป่าไม้แล้ว เพราะเพียงแต่รับไว้ด้วยประการใดๆก็เป็นความผิดไม่ต้องถึงกับร่วมกันกระทำผิด
จำเลยมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ปราบปรามการกระทำผิดแต่กลับกระทำผิดเสียเอง และความผิดที่จำเลยถูกฟ้องก็เป็นความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติอันควรรักษาไว้จึงไม่มีเหตุที่จะลงโทษให้เบาลง และรอการลงอาญาให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีไม้สักแปรรูป ปริมาตร ๔.๒๑ ลูกบาศก์เมตรและไม้แดงแปรรูปปริมาตร ๑.๔๑ ลูกบาศก์เมตร รวมปริมาตรทั้งสิ้น ๕.๖๖ ลูกบาศก์เมตรซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไว้ในความครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗, ๔๘,๗๓, ๗๔, ๗๔ จัตวา พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗, ๑๙, ๒๘พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗, ๙ ขอให้ริบของกลางและสั่งจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔มาตรา ๔๘, ๗๐, ๗๓ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๙ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๔ จำคุก ๓ ปี ริบไม้ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด ๓ ปี ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ จึงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกามา ในการพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน คงได้ความตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ว่า จำเลยมีส่วนรู้เห็นการที่นายประวิทย์ กระรินทร์ นำไม้สักและไม้แดงแปรรูปของกลางซึ่งเป็นไม้ที่ได้มาโดยเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้มาไว้ที่บ้านและยุ้งข้าวของจำเลย และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๗๓แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มีอัตราโทษจำคุก โทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ส่วนพระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๔ ซึ่งแก้ไขมาตรา ๗๓ มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองแสนบาท จะเห็นได้ว่ากฎหมายทั้งสองฉบับต่างเป็นคุณต่อผู้กระทำผิด ทั้งนี้แล้วแต่จะดูในแง่ชั้นสูงหรือชั้นต่ำของโทษกรณีเช่นนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าศาลจะลงโทษจำคุกในอัตราชั้นสูงต้องใช้กฎหมายฉบับแรกเพราะเป็นคุณแก่จำเลย แต่ถ้าจะจำคุกจำเลยในอัตราชั้นต่ำก็ต้องใช้กฎหมายฉบับหลังเพราะเป็นคุณแก่จำเลย คดีนี้ศาลอุทธรณ์เห็นควรจำคุกจำเลยมีกำหนด ๓ ปีการวางโทษอยู่ในระดับที่ใช้กฎหมายฉบับเก่าก็ได้ หรือใช้กฎหมายฉบับใหม่ก็ได้ เช่นนี้ควรใช้กฎหมายฉบับเก่าอันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำผิด ทั้งนี้โดยนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๙๒/๒๕๐๐ ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี โจทก์ นางไทย แสงเงิน จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยมาตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๔ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา สมควรปรับบทลงโทษเสียให้ถูกต้อง
ที่จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงเท่าที่ได้ความจากการพิจารณายังถือไม่ได้ว่า จำเลยร่วมกระทำผิดกับนายประวิทย์ สามีของนางแก้วมาน้องภริยาจำเลยพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาได้ความว่า จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่เกิดเหตุจดทะเบียนสมรสกับนางศรีและยังมิได้หย่าขาดจากกัน จำเลยได้ภริยาอีกคนหนึ่งชื่อนางสุพิน ที่ตำบลอำเภอเดียวกับบ้านจำเลย แต่ยังไป ๆ มา ๆ มิได้ย้ายทะเบียนออกจากบ้านเกิดเหตุ นายประวิทย์ เป็นน้องเขยของนางศรีภริยาจำเลย อยู่กินกับนางแก้วมาในบ้านนายทาพ่อตา ซึ่งอยู่ในบริเวณรั้วเดียวกับบ้านนางศรี นายประวิทย์มีอาชีพทำโต๊ะและประตูไม้ขาย ซึ่งต้องใช้ไม้ปริมาณมากและจะต้องเสาะแสวงหาไม้ให้มีไว้ทำสิ่งของดังกล่าวต่อเนื่องกันมิให้ขาดช่วง เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบไม้ของกลาง ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามตามกฎหมายที่ยุ้งข้าว และห้องเก็บของใต้ถุนบ้านจำเลย บ้านจำเลยและบ้านนายทาซึ่งนายประวิทย์อาศัยอยู่ด้วยไม่มีรั้วกั้นระหว่างบ้านทั้งสอง และไม่ปรากฏว่ามีสิ่งกำบังสายตาอย่างใด จำเลยแสดงออกโดยเปิดเผย ซึ่งความเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งไม้ของกลาง โดยจำเลยรู้ว่าเป็นไม้ที่ได้มาโดยผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ ซึ่งเป็นความผิดตาม มาตรา ๗๐ แล้ว ที่จำเลยกล่าวในฎีกาว่า การยินยอมมิใช่ร่วมกันตามกฎหมายนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะเพียงแต่รับไว้ด้วยประการใด ๆ ก็เป็นความผิดแล้ว ไม่ต้องถึงกับร่วมกันกระทำผิดและเห็นว่า จำเลยมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ปราบปรามการกระทำผิด แต่กลับกระทำผิดเสียเอง และความผิดที่จำเลยถูกฟ้องก็เป็นความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติอันควรรักษาไว้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุกจำเลยมา ๓ ปี ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ไม่มีเหตุที่จะลงโทษให้เบาลงและรอการลงอาญาให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๗๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖)พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share