คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2447/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การประกันชีวิตที่ผู้รับประกันภัยมีสิทธิบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 นั้น จะต้องเป็นการปกปิดความจริงหรือแถลงความเท็จในข้อสารสำคัญเฉพาะในเวลาเข้าทำสัญญาประกันชีวิตเท่านั้น
แม้ผู้ขอประกันชีวิตจะปกปิดหรือแถลงเท็จเกี่ยวกับฐานะอันแท้จริง หากผู้รับประกันภัยควรจะได้รู้เท่าทันถึงฐานะของบุคคลนั้น โดยใช้ความระมัดระวังสอดส่องเยี่ยงวิญญูชนแล้วสัญญาประกันชีวิตนั้นก็เป็นอันสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 866 ผู้รับประกันภัยหามีสิทธิบอกล้างไม่
ไม่มีกฎหมายบทใดจำกัดสิทธิผู้เอาประกันภัยว่าจะระบุใครเป็นผู้รับประโยชน์ไม่ได้บ้าง แม้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ญาติของผู้เอาประกันภัยก็อาจถูกระบุเป็นผู้รับประโยชน์ได้
ผู้เอาประกันชีวิตถูกคนร้ายยิงตาย โดยไม่ปรากฏว่าคนร้ายเป็นใคร ถือว่าเป็นการเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายพันสามีโจทก์ได้ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตไว้กับบริษัทจำเลยเป็นเงิน 70,000 บาท หากเป็นกรณีตายโดยอุปัทวเหตุบริษัทจำเลยต้องจ่ายเงิน 140,000 บาท ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์คนที่ 1 นายเสงี่ยม สว่างจิตร เป็นผู้รับประโยชน์คนที่ 2 นายพันถูกคนร้ายยิงตาย ซึ่งเป็นการตายโดยอุปัทวเหตุโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงิน 140,000 บาทให้โจทก์ จำเลยไม่ยอมชำระ จึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การว่า นายพันถูกคนร้ายยิงตาย หาใช่อุบัติเหตุไม่ นายพันได้ปกปิดความจริงกับบริษัทในข้อสารสำคัญหลายประการเกี่ยวกับรายได้และการชำระเบี้ยประกันสัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ จำเลยบอกล้างแล้วโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 140,000 บาทให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้แทนของบริษัทจำเลยได้ไปชักชวนให้นายพันเอาประกันชีวิตไว้กับบริษัทจำเลยและได้เขียนคำขอประกันชีวิตให้ ทั้งรายงานการสืบสวนประกอบคำขอด้วยว่านายพันมีฐานะเพียงพอที่จะประกันชีวิตด้วยจำนวนเงินเอาประกัน 70,000 บาทได้ แพทย์ของบริษัทจำเลยได้ตรวจร่างกายแล้วว่ามีสุขภาพดี ผู้จัดการสาขาของบริษัทจำเลยจึงอนุมัติให้ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ รวมทั้งออกกรมธรรม์อุปัทวเหตุควบคู่กันไปด้วย ต่อมานายพันถูกคนร้ายหลอกเอาตัวไปฆ่า เจ้าหน้าที่บริษัทจำเลยได้ไปสอบสวนและบันทึกถ้อยคำของโจทก์และนายเสงี่ยม สว่างจิตร ไว้ ปรากฎตามเอกสาร ล.2 และ ล.3 ซึ่งมีความว่า นายพันมีรายได้น้อย นายเสงี่ยมผู้รับประโยชน์เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันให้ ภายหลัง ผู้จัดการสาขาของบริษัทจำเลยได้มีหนังสือบอกล้างกรมธรรม์ไปยังโจทก์และนายเสงี่ยมอ้างว่าสามีโจทก์ปกปิดความจริงในข้อสารสำคัญ พร้อมกับส่งเบี้ยประกันงวดแรกที่ชำระแล้วคืนนายเสงี่ยม

ข้อที่จำเลยฎีกาว่า เอกสาร ล.2, ล.3 ย่อมใช้ยันโจทก์ในชั้นพิจารณาของศาลได้ ทั้งนายเสงี่ยมให้ถ้อยคำด้วยความเต็มใจนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การประกันชีวิตที่ผู้รับประกันภัยจะมีสิทธิบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 นั้น จะต้องเป็นการปกปิดความจริงหรือแถลงความเท็จในข้อสารสำคัญเฉพาะในเวลาเข้าทำสัญญาประกันชีวิตเท่านั้น เพราะฐานะของบุคคลที่ประกอบอาชีพอิสระเช่นการค้าขายหรือกสิกรรม ฯลฯ อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลาและไม่แน่นอน ทั้งไม่ใช่สิ่งที่พึงปิดบังกันได้ง่าย หากผู้รับประกันภัยควรจะได้รู้เท่าทันถึงฐานะของบุคคลโดยใช้ความระมัดระวังสอดส่องเยี่ยงวิญญูชนแล้ว แม้ผู้ขอประกันชีวิตจะปกปิดหรือแถลงเท็จเกี่ยวกับฐานะอันแท้จริง ผู้รับประกันภัยก็หามีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมได้ไม่ เพราะมาตรา 866 ให้ถือว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์แล้วพฤติการณ์ในคดีนี้ปรากฏว่าผู้แทนบริษัทจำเลยได้สืบสวนฐานะของนายพันผู้เอาประกันแล้ว นายพันแจ้งว่ามีอาชีพหลักคือทำนา มีรายได้ประมาณปีละ 25,000 บาท ถัวเฉลี่ยตกเดือนละ2,000 กว่าบาท ซึ่งน่าจะสูงเกินความจริงไปบ้างสำหรับชาวนาธรรมดาทั่วไป ผู้แทนบริษัทจำเลยน่าจะสอดส่องเปรียบเทียบกับฐานะของชาวนาในละแวกเดียวกับนายพันได้ไม่ยาก กลับสนับสนุนตามที่นายพันแจ้งซ้ำรับรองด้วยว่านายพันมีฐานะเพียงพอประกันชีวิตได้ การที่นายพันจะปกปิดความจริงหรือแถลงเท็จเกี่ยวกับรายได้จากการทำนาอย่างไรและเบี้ยประกันจะเป็นของนายพันเองหรือไม่นั้น บริษัทจำเลยก็คงมิได้ถือเป็นเหตุบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิตกับนายพันจะมาอ้างในภายหลังว่าสัญญาประกันชีวิตไม่สมบูรณ์มาแต่แรกหาได้ไม่ แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่าเอกสาร ล.2, ล.3 จะฟังว่าเกิดจากความบริสุทธิ์ใจของผู้ให้ถ้อยคำไม่ได้ และโจทก์นำสืบฟังได้ว่านายพันมีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ทั้งมีที่ดินของตนเอง จะว่าไม่มีฐานะเพียงพอจะประกันชีวิตทีเดียวหาได้ไม่ และเบี้ยประกันที่ส่งงวดแรกไปแล้ว นายพันก็ย่อมออกชำระเองได้

ข้อที่จำเลยฎีกาว่า นายเสงี่ยมผู้รับประโยชน์ไม่ใช่ญาติของนายพันจะเข้ามาเป็นผู้รับประโยชน์ไม่ได้นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่มีกฎหมายบทใดจำกัดสิทธิผู้เอาประกันภัยว่าจะระบุใครเป็นผู้รับประโยชน์ไม่ได้บ้าง แม้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ญาติของผู้เอาประกันภัยก็ย่อมถูกระบุเป็นผู้รับประโยชน์ได้ จะถือว่าเป็นการเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากกรมธรรม์โดยไม่สุจริตเสมอไปไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีเหตุอันควรจะบอกล้างสัญญาประกันชีวิตของนายพันได้

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การตายของนายพันเป็นการตายโดยเจตนาของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะฆ่าให้ตาย ไม่ใช่อุบัติเหตุนั้นเห็นว่า นายพันถูกคนร้ายยิงตาย ไม่ปรากฏต่อทางสืบสวนของตำรวจว่าคนร้ายเป็นใคร นับว่าเป็นการเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุแล้ว

พิพากษายืน

Share