แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 56, 57, 58, 60, 77
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้รวม ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินที่จะนำมาชำระหนี้โจทก์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๐ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ในระหว่างรอการส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานเกี่ยวกับการประนอมหนี้กิจการทรัพย์สินและความประพฤติของลูกหนี้(จำเลย) ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๕๐ ว่า ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ เจ้าหนี้มีมติเห็นชอบด้วยคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของลูกหนี้ต่อมาวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ ภาค ๓ และวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๑ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดต่อมาศาลชั้นต้นไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาอ้างว่า มีเจ้าหนี้เพียงรายเดียวคือโจทก์และจำเลยทั้งสองมีทรัพย์สินพอชำระหนี้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ต่อมาศาลชั้นต้นพิจารณาคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย และวันที่ ๓๐ กันยายน๒๕๔๑ จึงมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย
ได้ความดังกล่าวเห็นว่า กรณีศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา๑๔๒ (๕) เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายเป็นผลให้จำเลยทั้งสองหลุดพ้นจากหนี้ทั้งหมดที่เจ้าหนี้ทั้งหลายอาจขอรับชำระได้โดยสิ้นเชิง แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัติล้มละลายลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้ ตามนัยมาตรา ๕๖ และ ๗๗ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ จำเลยทั้งสองมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เพียงรายเดียวคือเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ซึ่งจะบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ได้ก็แต่เฉพาะตามที่ปรากฏในคำขอประนอมหนี้เท่านั้น และในระหว่างจำเลยทั้งสองปฏิบัติตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมดอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ยังคงมีแต่อำนาจหน้าที่อยู่บ้างเท่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา๕๗, ๕๘, ๖๐ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ และข้อตกลงในการประนอมหนี้เท่านั้น จึงเห็นได้ว่า เมื่อจำเลยทั้งสองประนอมหนี้ก่อนล้มละลายสำเร็จจำเลยทั้งสองก็พ้นจากภาวะเป็นผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ไม่ต้องล้มละลาย กลับมามีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนได้อีกต่อไป คงมีแต่หน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในการประนอมหนี้เท่านั้น ฉะนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยว่าควรมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดหรือไม่อีกต่อไป สมควรจำหน่ายคดีเสีย
ให้จำหน่ายคดีจำเลยทั้งสองออกเสียจากสารบบความของศาลฎีกา.