คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2432/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

รถยนต์ที่จำเลยขับในขณะเกิดเหตุเป็นของบริษัท ย. นำมาเดินร่วมกับบริษัทขนส่งจำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางสายที่ 34 จำเลยเป็นเพียงลูกจ้างขับรถยนต์คันดังกล่าวจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ประจำรถเท่านั้น ไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ประกอบการขนส่งแม้รถที่จำเลยขับจะไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งจากนายทะเบียน จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265,268, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23,126 กับขอให้ริบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีควาผมิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268 ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามมาตรา 268ประกอบมาตรา 265 จำคุก 3 ปี และผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23, 126 ฐานประกอบการขนส่งโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุก 1 ปี เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 รวมเป็นโทษจำคุก 4 ปี คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 4 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี ริบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามมาตรา 268 ประกอบด้วยมาตรา 265 จำคุก 3 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่เห็นสมควรรอการลงโทษให้ ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นลูกจ้างขับรถยนต์โดยสารประจำทางของบริษัท ยู่เซ่งเฮงทัวร์ จำกัด ซึ่งมีนายติ้งกือ แซ่แต้ เป็นผู้จัดการบริษัท แล่นระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2525 เวลาประมาณ 12.40นาฬิกา จำเลยขับรถยนต์โดยสารประจำทางของบริษัท ยู่เซ่งเฮงทัวร์จำกัด ติดแผ่นป้ายทะเบียน 10-0363 กรุงเทพมหานคร ของกลาง ซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอม ออกจากสถานีขนส่งเอกมัย กรุงเทพมหานครบรรทุกผู้โดยสารมุ่งหน้าไปจังหวัดจันทบุรี ขับไปถึงบริเวณหน้าวัดธาตุทอง แขวงพระโขนง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ได้ถูกนานเดชา จตุรนต์รัศมี และนายพงศ์ธร ป้อมสัมฤทธิ์ เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกกับพวกจับกุมกล่าวหาว่ากระทำผิดคดีนี้
ปัญหาข้อแรกที่จะวินิจฉัยคือ ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้ประกอบการขนส่งอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 23 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23 วรรคแรก บัญญัติว่าห้ามไม่ให้ผู้ใดประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทางการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก หรือการขนส่งส่วนบุคคล เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ปรากฏว่ารถยนต์ที่จำเลยขับในขณะเกิดเหตุเป็นของบริษัท ยู่เซ่งเฮงทัวร์ จำกัด นำมาเดินร่วมกับบริษัทขนส่งจำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางสายที่ 34กรุงเทพ – ขันทบุรี จำเลยเป็นเพียงลูกจ้างขับรถยนต์คันดังกล่าวจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ประจำรถตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 92(1) เท่านั้น ไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ประกอบการขนส่งตามความหมายแห่งมาตรา 23 ตามที่โจทก์ฟ้อง แม้รถที่จำเลยขับจะไม่ได้รับใบอนุญษตให้ประกอบการขนส่งจากนายทะเบียน จำเลยก็ไม่มีความผิดฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน.

Share