คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2432/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะให้การว่าก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์โจทก์ทราบแล้วว่าที่ดินนั้นเป็นลำรางสาธารณะ จำเลยไม่เคยหลอกลวงโจทก์ แต่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แต่เพียงว่าจำเลยได้ขายลำรางสาธารณะให้แก่ฝ่ายโจทก์กับ ก. และรับเงินมาแล้ว 30,000 บาท จริงหรือไม่เท่านั้น จำเลยไม่โต้แย้ง ประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงเท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด ข้อเท็จจริงที่ว่าฝ่ายโจทก์รู้มาก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์แล้วว่าเป็นลำรางสาธารณะไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนจึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๗ จำเลยได้ประกาศโฆษณาจัดสรรที่ดินจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปและได้ชี้แจงให้โจทก์ที่ ๑, ที่ ๒ และนายเกรียง กังวานเวชกุล ทราบว่า ที่ดินทั้งหมดในแผนผังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จำเลยมีสิทธิขายได้ โจทก์ที่ ๑, ที่ ๒ และนายเกรียงได้บอกจำเลยว่ามีความประสงค์จะซื้อที่ดินผืนใหญ่ที่มีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า ๔ ไร่ เพื่อตั้งโรงงานและที่พักคนงาน จำเลยจึงเสนอแนะให้ซื้อที่ดินจากจำเลยติดต่อกันหลายแปลงเพื่อให้ได้ที่ดินเป็นผืนใหญ่ผืนเดียวพอที่จะตั้งโรงงาน โจทก์ที่ ๑, ที่ ๒ และนายเกรียงเห็นว่าที่ดินตามแผนผังที่จำเลยประกาศขายนี้มีที่ดินบางส่วนว่างและคั่นกันอยู่ จำเลยยืนยันว่าที่ว่างที่คั่นอยู่นั้นเป็นของจำเลย หากโจทก์ประสงค์จะซื้อจำเลยจะขายให้ โจทก์ที่ ๑, ที่ ๒ และนายเกรียงเชื่อตามคำเสนอขายของจำเลย จึงตกลงซื้อที่ดินหมายเลข ๕๑, ๕๘, ๓๙๑, ๓๙๒, ๓๙๓ ตามแผนผังซึ่งมีเนื้อที่รวมกัน ๑๗๕๖ ตารางวา และที่ดินที่ว่างระหว่างที่ดิน ๕ แปลงนั้นซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๑๐๐ ตารางวา โดยจำเลยตีราคาที่ว่างกัน ๓๐,๐๐๐ บาท ได้ชำระราคาบางส่วนให้จำเลย ๕๐,๐๐๐ บาท เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ ส่วนที่เหลือตกลงจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๐๗ จำเลยได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินทั้ง ๕ โฉนดและทำบันทึกโดยอขายที่ว่างระหว่างที่ดิน ๕ โฉนด โดยได้รับชำระราคาเรียบร้อยแล้วที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวคือ โอนขายที่ดินโฉนดที่ ๓๐๕๖ และ ๓๐๙๐ เนื้อที่ ๔๕๘ ตารางวา ให้แก่โจทก์ที่ ๑ โอนขายที่ดินโฉนดที่ ๗๒๙๑ เนื้อที่ ๔๖๘ ตารางวา ให้แก่โจทก์ที่ ๒ โอนขายที่ดินโฉนดที่ ๗๒๙๒ และ ๗๒๙๓ เนื้อที่ ๗๓๐ ตารางวาให้แก่นายเกรียง และโอนขายที่ดินที่ว่างระหว่างที่ดิน ๕ โฉนดนั้น เนื้อที่ประมาณ ๑๐๐ ตารางวา ให้แก่โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ และนายเกรียงดังภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๖ ต่อมาเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๖ โจทก์จึงทราบชัดว่าจำเลยนำที่ว่างระหว่างที่ดิน ๕ โฉนดนั้นอันเป็นลำรางสาธารณะมาโอนขายให้โดยจำเลยทราบดีว่าเป็นลำรางสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งจำเลยไม่มีอำนาจนำมาโอนขายได้ การกระทำของจำเลยเป็นการหลอกลวงและได้รับเงินไปจากโจทก์และนายเกรียง โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว การที่โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ไม่สามารถใช้สอยที่ดินลำรางและไม่สามารถใช้ที่ดินตามโฉนดทั้ง ๕ แปลงตามวัตถุประสงค์เดิม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กล่าวคือ (๑) ที่ดินลำรางสาธารณประโยชน์ที่จำเลยนำมาขายให้นั้น เมื่อจำเลยไม่สามารถส่งมอบและโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ โจทก์ได้บอกกล่าวให้คืนเงิน จำเลยเพิกถอน จึงต้องรับผิดในเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท ที่ได้รับไปพร้อมด้วยดอกเบี้ย (๒) ที่ดิน ๕ โฉนดที่ได้รับโอนจากจำเลยนั้น ถ้าไม่มีลำรางสาธารณะคั่นก็จะสร้างโรงงานได้ ราคาซื้อขายกันในขณะนี้จะไม่ต่ำกว่าไร่ละ ๓๐๐,๐๐๐ บาท ถ้ามีลำรางคั่น ราคาจะลดลงเหลือไร่ละไม่เกิน ๒๗๐,๐๐๐ บาท การที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นลำรางสาธารณะให้โจทก์และนายเกรียงตามข้อตกลง ทำให้โจทก์และนายเกรียงไม่อาจใช้ที่ดิน ๕ โฉนดนั้นตามความประสงค์ที่แท้จริง เป็นเหตุให้ที่ดิน ๕ โฉนดนั้นต้องเสื่อมความสะดวกความเหมาะสมแก่การที่จะใช้และประโยชน์อันพึงได้จากที่ดินเป็นราคาไม่ต่ำกว่าไร่ละ ๓๐,๐๐๐ บาท รวม ๕ โฉนด เป็นเนื้อที่ ๕ ไร่ ๑ งาน ๕๖ ตารางวา เป็นเงิน ๑๓๐,๕๐๐ บาท นายเกรียงตามไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ โจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นน้องชายเป็นผู้รับมรดกนายเกรียง จำเลยจะต้องใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสี่ (๓) ถ้าที่ดินลำรางนั้นเป็นของจำเลยและจำเลยสามารถโอนส่งมอบให้ได้ตามข้อตกลง ในปัจจุบันจะมีราคาไม่ต่ำกว่า ๗๕,๐๐๐ บาท การที่โจทก์และนายเกรียงต้องสูญเสียลำรางไป จำเลยจะต้องชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากที่ดินลำรางเป็นเงิน ๔๕,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ขอให้บังคับให้จำเลยใช้คืนเงินค่าที่ดินลำรางหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องนี้เจ้าพนักงานออกโฉนดให้จำเลยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ จำเลยตกลงขายให้แก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ในวันชำระราคาที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จำเลยจึงทราบว่าผู้ที่ชำระราคาที่ดินเป็นคนต่างด้าวสูงอายุ การใส่ชื่อบุคคลในโฉนดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์นั้นผู้ชำระราคาเป็นผู้จัดการเอง จำเลยไม่เคยติดต่อหรือรู้จักผู้ที่มีชื่อในโฉนดมาก่อน ผู้ชำระราคาที่ดินและโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ไม่เคยแจ้งแก่จำเลยก่อนซื้อว่าจะใช้ที่ดินก่อสร้างโรงงานและที่พักคนงาน จำเลยไม่เคยแนะนำชักชวนหรือหลอกลวงให้ซื้อที่ดินติดต่อกันหลายแปลงเพื่อสร้างโรงงาน ไม่เคยตกลงหรือให้สัญญาว่าจะขายที่ดินที่ว่างหรือลำรางบางส่วนที่คั่นที่ดิน ๕ โฉนดนั้น ไม่เคยได้รับเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท เป็นค่าที่ดินที่ว่าง ๑๐๐ ตารางวา ที่ดินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๖ ไม่เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินตามฟ้อง ที่ดินเนื้อที่ ๑๐๐ ตารางวา ขายอย่างสูงไม่เกินกว่า ๑๓,๐๐๐ บาท เพราะจำเลยขายที่ดินตามฟ้องในราคาไร่ละประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท ในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๐๗ จำเลยไม่เคยทำบันทึกโอนขายที่ดินที่ว่างตามฟ้องให้แก่บุคคลใด ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องโจทก์ก็ทราบแล้วว่าที่ดินรับโอนนั้นติดกับลำรางสาธารณะ ซึ่งจะถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์และซื้อขายไม่ได้ จำเลยไม่เคยหลอกลวงให้โจทก์หลงเชื่อ ที่ดิน ๕ โฉนดนั้นตั้งแต่ซื้อไปจนบัดนี้ (พ.ศ.๒๕๑๗) ๑๐ ปีเศษแล้วโจทก์กับพวกยังไม่เคยริเริ่มก่อสร้างโรงงาน ในโฉนดที่โจทก์ที่ ๑, ที่ ๒ กับพวกรับโอนไปก็ปรากฏว่ามีลำรางสาธารณะคั่นอยู่แล้ว เมื่อที่ดินที่เป็นลำรางไม่ใช่ของจำเลย ไม่สามารถซื้อขายกันได้ และโจทก์ก็ทราบมาก่อนแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องทั้งสิ้น จำเลยขอตัดฟ้องด้วยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายให้คืนเงินฐานผิดสัญญาและละเมิดแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินลำรางพิพาท ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ขายที่ดินซึ่งเป็นลำรางสาธารณะให้แก่ฝ่ายโจทก์โดยได้รับชำระราคา ๓๐,๐๐๐ บาทไปจริง และวินิจฉัยว่าคดีนี้แม้จำเลยจะให้การว่าก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์โจทก์ทราบแล้วว่าที่ดินนั้นเป็นลำรางสาธารณะ จำเลยไม่เคยหลอกลวงโจทก์ แต่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แต่เพียงว่าจำเลยได้ขายลำรางสาธารณะให้แก่ฝ่ายโจทก์กับนายเกรียง และรับเงินมาแล้ว ๓๐,๐๐๐ บาท จริงหรือไม่เท่านั้น จำเลยไม่โต้แย้ง ประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงเท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด ข้อเท็จจริงที่ว่าฝ่ายโจทก์รู้มาก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์แล้วว่าเป็นลำรางสาธารณะ ไม่มีสิทธิเรียกเงินคืน จึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายืน

Share