แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องโจทก์ในช่องคู่ความโจทก์ระบุว่า”กรมสรรพากรโดยว.รองอธิบดีกรมสรรพากรผู้รับมอบอำนาจโจทก์”โดยไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้มอบอำนาจให้ว.ฟ้องคดีนี้และในชั้นพิจารณาโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบถึงการมอบอำนาจแต่ประการใดการที่โจทก์จะได้มอบอำนาจให้ว.ฟ้องคดีหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ใช่เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา84(1)ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา153เมื่อโจทก์ไม่นำสืบถึงการมอบอำนาจเท่ากับว.ไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(5)ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา153 การที่โจทก์เพิ่งแนบคำสั่งกรมสรรพากรเรื่องมอบอำนาจให้รองอธิบดีกรมสรรพากรสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีมาท้ายอุทธรณ์ภายหลังที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องไปแล้วย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา66ไม่ได้บังคับให้ศาลต้องทำการสอบสวนในอำนาจของผู้แทนโจทก์ว่าบกพร่องหรือไม่ก่อนเป็นแต่ให้อำนาจศาลเมื่อเห็นสมควรในการที่จะใช้ดุลพินิจทำการสอบสวนหรือไม่เท่านั้นเมื่อในเบื้องต้นไม่ปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นสงสัยการที่ศาลชั้นต้นไม่ทำการสอบสวนถึงอำนาจของผู้แทนโจทก์จึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบ เมื่อฎีกาโจทก์ในข้อที่ว่าพนักงานอัยการดำเนินคดีตามอำนาจและหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติพนักงานอัยการพ.ศ.2498มาตรา11(2)กำหนดไว้ไม่ใช่ในฐานะเป็นตัวแทนหรือทนายความของโจทก์เป็นฎีกาที่ขัดแย้งกับข้อความที่ปรากฏตามคำฟ้องซึ่งระบุชัดว่าโจทก์คือกรมสรรพากรโดยว.รองอธิบดีกรมสรรพากรผู้รับมอบอำนาจศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยทั้งสองเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้มีหมายเรียกจำเลยทั้งสองให้มาตรวจสอบภาษีอากร และจากการตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานของจำเลยทั้งสองปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้องเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ประเมินว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2521 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2521 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2522 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม2522 จำเลยที่ 1 มีรายได้จากการดำเนินการขนส่ง จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำบัญชีเอกสารหลักฐานไปให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวน จึงต้องรับผิดเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายเงินเพิ่ม รวมแล้วจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษี 1,328,321.20 บาทสำหรับจำเลยที่ 2 ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ประกอบการค้าประเภทการค้า 4 ชนิด 1(ฉ) ในระหว่างเดือนมกราคม 2520 ถึงเดือนธันวาคม2520 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้จดทะเบียนการค้าและไม่ได้นำรายรับมายื่นเสียภาษีการค้า จึงประเมินภาษีการค้าตามมาตรา 87(1) คิดเป็นเงินภาษีการค้าเบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลรวม290,185.48 บาท และในปี 2520 จำเลยที่ 2 ยังมีเงินได้พึงประเมินจากการรับจ้างบรรจุและขนถ่ายปุ๋ยซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารวมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับแล้วเป็นเงินภาษี1,463,331.32 บาท และในปี 2521 จำเลยที่ 2 มีเงินได้พึงประเมินจากการขนส่ง ซึ่งต้องเสียภาษีเมื่อรวมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับแล้วเป็นเงินภาษี 201,320 บาท รวมหนี้ภาษีของจำเลยที่ 2 เป็นเงิน1,954,836.80 บาท เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินให้จำเลยทั้งสองชำระเงินภาษีดังกล่าวโดยส่งไปทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับแต่ส่งไม่ได้ เพราะไม่มีผู้รับจึงแจ้งการประเมินโดยประกาศทางหนังสือพิมพ์ จำเลยทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์การประเมินและไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ ต่อมาโจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้สองครั้งมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ และไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะยึดมาชำระหนี้ได้ ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอที่จะให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาโจทก์ในประการแรกเรื่องอำนาจฟ้อง เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ในช่องคู่ความโจทก์ระบุว่า “กรมสรรพากร โดยนายวีระชัย ตันติกุล รองอธิบดีกรมสรรพากรผู้รับมอบอำนาจโจทก์” โดยไม่ปรากฎว่าผู้ใดเป็นผู้รับมอบอำนาจให้นายวีระชัยฟ้องคดีนี้และในชั้นพิจารณาโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบถึงการมอบอำนาจแต่ประการใด การที่โจทก์จะได้มอบอำนาจให้นายวีระชัยฟ้องคดีหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ใช่เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 153 เมื่อโจทก์ไม่นำสืบถึงการมอบอำนาจดังกล่าวเท่ากับนายวีระชัยไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ศาลล่างทั้งสองยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยชอบแล้ว การที่โจทก์เพิ่งแนบคำสั่งกรมสรรพากรเรื่องมอบอำนาจให้รองอธิบดีกรมสรรพากรสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีมาท้ายอุทธรณ์ ภายหลังที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องไปแล้ว ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า หากศาลมีเหตุอันควรสงสัยในอำนาจของผู้แทนโจทก์ว่าบกพร่องหรือไม่ ศาลชอบที่จะทำการสอบสวนก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 66 เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บังคับให้ศาลต้องกระทำ เป็นแต่ให้อำนาจศาลเมื่อเห็นสมควรในการที่จะใช้ดุลพินิจทำการสอบสวนหรือไม่เท่านั้น เมื่อในเบื้องต้นไม่ปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นสงสัยแล้วการที่ศาลชั้นต้นไม่ทำการสอบสวนถึงอำนาจของผู้แทนโจทก์จึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบแต่อย่างใด และที่โจทก์ฎีกาว่าคดีนี้พนักงานอัยการดำเนินคดีตามอำนาจและหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11(2) กำหนดไว้ไม่ใช่ในฐานะเป็นตัวแทนหรือทนายความของโจทก์นั้น เห็นว่าข้ออ้างดังกล่าวขัดแย้งกับข้อความที่ปรากฏตามคำฟ้องซึ่งระบุชัดว่าโจทก์คือกรมสรรพากร โดยนายวีระชัย ตันติกุลรองอธิบดีกรมสรรพากรผู้รับมอบอำนาจ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ยกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว
พิพากษายืน