แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ย. ผู้จัดการมรดกได้แบ่งมรดกซึ่งมีที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นส่วนหนึ่งให้แก่ จ. สามีจำเลยแล้ว จ.และครอบครัวอยู่ในตึกแถวเป็นการครอบครองอย่างเจ้าของ แม้ จ. ตายแล้วจำเลยกับบุตรก็ยังครอบครองต่อมารวมเป็นเวลา 17 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียน หุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนโจทก์เคยอาศัยอยู่กับ ย. โจทก์ทราบก่อนซื้อแล้วว่า จำเลยกำลังพิพาทกับย. ที่ศาล เมื่อโจทก์ซื้อมาทั้งที่รู้อยู่ โจทก์ย่อมเป็นผู้รับโอนที่กระทำการโดยไม่สุจริต การรับโอนของโจทก์ย่อมเป็นทางเสียเปรียบแก่จำเลยผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน จำเลยอาจเรียกให้โจทก์เพิกถอนทะเบียนได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและตึกแถวดังกล่าว
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารออกจากตึกแถวพิพาท และส่งมอบแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,500 บาท คำขออื่นให้ยก จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยเป็นภรรยานายจำนงค์ นาคมาศ ซึ่งเป็นบุตรของนายเสงี่ยม นางยุพิน นาคมาศ เมื่อนายเสงี่ยมถึงแก่กรรมแล้ว นางยุพินเป็นผู้จัดการมรดกของนายเสงี่ยม ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 156116 มีตึกแถวเลขที่ 1031 ปลูกอยู่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 34820 ซึ่งเป็นมรดกของนายเสงี่ยมนายจำนงค์กับจำเลยและบุตรอาศัยอยู่ในตึกแถวเลขที่ 1031 ตั้งแต่พ.ศ. 2506 นายจำนงค์ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2512 จำเลยกับบุตรก็ยังคงอาศัยอยู่ในตึกแถวเลขที่ 1031 นี้ ต่อมา พ.ศ. 2520 นางยุพินยกที่ดินมรดก 4 แปลง รวมทั้งแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ 34820 ให้แก่นางสุภา ราชเวชชพิศาล นายสุรัต ราชเวชชพิศาล และนายสุรวุฒิราชเวชชพิศาล จำเลยและบุตร จึงฟ้องนางยุพิน นางสุภา นายสุรัตและนายสุรวุฒิเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2521 ขอให้เพิกถอนการโอนและขอแบ่งมรดก (โฉนดที่ดินเลขที่ 34820, 64113, 64115, 64116และ 7148) ซึ่งรวมทั้งตึกแถวเลขที่ 1031 และที่ดินที่ปลูกตึกแถวนี้ด้วย ปรากฏตามคดีหมายเลขดำที่ 8490/2521 (หมายเลขแดงที่ 12601/2523) ของศาลชั้นต้น วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2522 นางสุภา นายสุรัตและนายสุรวุฒิขายที่ดินทั้ง 4 แปลงนี้รวมทั้งตึกแถวเลขที่ 1031 แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์แบ่งแยกที่ดินที่ปลูกตึกแถวเลขที่ 1031 จากโฉนดที่ดินเลขที่ 34820 เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 156116 คดีที่จำเลยฟ้องนางยุพินกับพวก ขอให้เพิกถอนการโอนและขอแบ่งมรดกนั้น ศาลฎีกาพิพากษาวินิจฉัยว่านางยุพินแบ่งมรดกของนายเสงี่ยมให้นายจำนงค์แล้ว ซึ่งได้แก่ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 1511, 5337, 13799 กับที่ดินและตึกแถวเลขที่ 1031 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินเลขที่ 7148 เดิม (แบ่งแยกมาเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 34820 ภายหลังโจทก์แบ่งแยกมาเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 156116) การที่นางยุพินโอนที่ดินและตึกแถวเลขที่ 1031 ให้แก่นางสุภา นายสุรัตและนายสุรวุฒิเป็นทางให้จำเลยเสียเปรียบแต่จำเลยมิได้ฟ้องโจทก์คดีนี้ด้วย จึงเพิกถอนไม่ได้ จำเลยคงมีสิทธิได้ค่าเสียหายพิพากษาให้นางยุพิน นางสุภา นายสุรัตและนายสุรวุฒิร่วมกันชำระเงินหนึ่งล้านบาทแก่จำเลยและบุตร คดีมีปัญหาว่าที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 156116 และตึกแถวเลขที่ 1031 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินแปลงนี้เป็นของโจทก์หรือไม่
จำเลยนำสืบก่อนว่า จำเลยและครอบครัวอยู่ในตึกแถวเลขที่ 1031อย่างเป็นเจ้าของโดยสงบและเปิดเผยเป็นเวลา 17 ปีแล้ว โจทก์ทราบว่าจำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนและขอรับมรดกรายนี้ และจำเลยก็ห้ามโจทก์แล้วมิให้โจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาท
โจทก์นำสืบว่า เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวเลขที่ 1031 แล้วโจทก์ก็ให้จำเลยขนย้ายออกไปโดยจะให้ค่าขนย้าย 60,000 บาท จำเลยจะเอา 100,000 บาท จึงไม่ตกลงกัน
พิเคราะห์แล้ว จำเลยเบิกความยืนยันว่านายจำนงค์สามีจำเลยมีสิทธิได้รับมรดกตึกแถวเลขที่ 1031 และที่ดินที่ปลูกตึกแถวนี้ นางยุพินอนุญาตให้นายจำนงค์และครอบครัวเข้าอยู่ในตึกแถวนี้ หลังจากนายจำนงค์ถึงแก่กรรม จำเลยกับบุตรก็ยังคงอยู่ในตึกแถวหลังนี้ รวมเป็นเวลา 17 ปีแล้วนางยุพินเบิกความในคดี (หมายเลขแดงที่ 12601/2523) ที่จำเลยฟ้องให้เพิกถอนการโอนและขอแบ่งมรดกว่า พยานได้แบ่งมรดกที่ดินสามแปลงรวมทั้งแปลงที่จำเลยอาศัยอยู่ด้วย (ที่ปลูกตึกแถวเลขที่ 1031) พยานยินดียกตึกแถวนี้พร้อมทั้งที่ดินให้แก่จำเลย ดังนี้แสดงว่านางยุพินในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเสงี่ยมได้แบ่งตึกแถวเลขที่ 1031 พร้อมทั้งที่ดินที่ปลูกตึกแถวนี้ให้แก่นายจำนงค์แล้ว การที่นายจำนงค์และครอบครัวอยู่ในตึกแถวดังกล่าวจึงเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ นายจำนงค์ถึงแก่กรรมแล้วจำเลยกับบุตรก็ยังครอบครองต่อมารวมเป็นเวลา 17 ปีแล้วแม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มา จำเลยก็ย่อมอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน โจทก์มีนายธีรชาติ นาคมาศกับนายสิทธิ์จรีรัตนประการ เป็นหุ้นส่วน นายสิทธิ์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการด้วย ได้ความว่านายธีรชาติเป็นคนรับใช้นางสุภาและเคยอาศัยอยู่กับนางยุพิน จำเลยและพยานจำเลยหลายปากเบิกความว่าจำเลยเคยห้ามนายสิทธิ์ไม่ให้ซื้อตึกแถวหลังนี้ โดยแจ้งว่าเป็นมรดกซึ่งจำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนและขอแบ่งมรดก คดีกำลังดำเนินอยู่ที่ศาล นายสิทธิ์พยานโจทก์ให้การลอย ๆ ว่า จำเลยไม่เคยห้ามซื้อเท่านั้น แต่ปรากฏว่าโจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวรายนี้ขณะคดีที่จำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนและขอแบ่งมรดกกำลังดำเนินอยู่ในศาลชั้นต้น โดยโจทก์ซื้อ (วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2522) หลังจากนางยุพินเบิกความเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2521 และวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2522 แล้วจึงน่าเชื่อตามคำพยานจำเลยว่า โจทก์ทราบก่อนซื้อแล้วว่าที่ดินและตึกแถวรายนี้จำเลยกำลังพิพาทกับนางยุพินกับพวกอยู่ที่ศาล เมื่อโจทก์ซื้อและรับโอนที่ดินและตึกแถวรายนี้มาทั้งรู้อยู่เช่นนี้ โจทก์ย่อมเป็นผู้รับโอนที่กระทำการโดยไม่สุจริต การรับโอนของโจทก์ย่อมเป็นทางเสียเปรียบแก่จำเลยผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน จำเลยอาจเรียกให้โจทก์เพิกถอนทะเบียนได้ เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและตึกแถวดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาขับไล่จำเลยกับให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาโดยกำหนดค่าทนายความรวม10,000 บาท แทนจำเลย”