คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2431-2432/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยแก่โจทก์ ยังไม่เป็นการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ใด ๆ ของโจทก์ในฐานะพนักงานของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
คำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่สั่งพักงานโจทก์ เป็นคำสั่งที่ใช้อำนาจตามข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย และคำสั่งดังกล่าวมีผลกระทบถึงโจทก์โดยตรง ดังนั้น หากคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบ โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนได้
ข้อบังคับกำหนดไว้ว่า เมื่อพนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดถูกกล่าวหาและถูกสอบสวนว่ากระทำผิด หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา ถ้าผู้บังคับบัญชาของโจทก์คือจำเลยที่ 2 เห็นว่า หากให้โจทก์คงอยู่ในหน้าที่จะเป็นการเสียหายแก่ธนาคารจำเลยที่ 1 ก็ให้พิจารณาสั่งพักงานโดยต้องเสนอขออนุมัติคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 ก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย ถูกดำเนินคดีอาญา และโจทก์กระทำการขัดขวางหรือยับยั้งการสอบสวนข้อเท็จจริง หรือการสอบสวนความผิดทางวินัย เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน เป็นกรณีที่หากให้โจทก์คงอยู่ในหน้าที่จะเป็นการเสียหายแก่ธนาคาร การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้พักงานโจทก์เพื่อรอฟังผลการสอบสวนทางวินัย จึงชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน แต่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ในสำนวนคดีแรกก่อนจำเลยยื่นคำให้การ ศาลแรงงานกลางอนุญาต จึงให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกและจำเลยในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 1 กับเรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องสำนวนแรกขอให้เพิกถอนคำสั่งธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ พ. 127/2544 และมติคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ ครั้งที่ 15/2544 ที่อนุมัติให้พักงานโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ย้อนหลังและให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายจำนวน 50,000,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์
โจทก์ฟ้องสำนวนหลังขอให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยและคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกันดังกล่าว
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การแก้แก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ พ. 127/2544 ที่ พ. 24/2542 ที่ พ. 192/2542 ที่ พ. 234/2544 ที่ พ. 240/2544 และที่ พ. 241/2544 และคำสั่งอื่นรวมทั้งมติคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง ให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ย้อนหลังแก่โจทก์และนายทรงเดช ให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหาย 200,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยให้คำพิพากษาผูกพันนายทรงเดชและลูกจ้างอื่นของจำเลยที่ 1 ที่ถูกกระทบโดยคำสั่งที่ถูกเพิกถอน นอกจากนั้นระหว่างพิจารณาโจทก์ถูกสั่งให้พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ พ. 117/2545 และที่ พ. 123/2545 และนายทรงเดชถูกสั่งให้พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ พ. 116/2545 ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวด้วย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า มีเหตุที่ศาลฎีกาจะพิพากษากลับคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นยกฟ้องโจทก์หรือที่จะพิพากษายกคำพิพากษาดังกล่าวเสียหรือไม่ ในปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่าคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะที่วินิจฉัยตามคำฟ้องของโจทก์ชอบหรือไม่ สำหรับคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์ซึ่งมีอยู่สองส่วน ส่วนแรกคือการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีตั้งกล่องรับบริจาคเงินในชื่อ “มูลนิธิศักดา – อัญชลี ณรงค์” ตามคำสั่งที่ พ. 134/2541 และกรณีการอำนวยสินเชื่อของธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาฉะเชิงเทรา โครงการสุวินทวงศ์สวีทโฮม ตามคำสั่งที่ พ. 183/2541 ในส่วนแรกนี้ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 มีผลเพียงให้คณะกรรมการที่จำเลยที่ 1 แต่งตั้งมา มีอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นการทั่วไปที่ไม่มีผลกระทบต่อโจทก์โดยตรง โดยคำสั่งดังกล่าวหามีผลเป็นการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ใด ๆ ของโจทก์ในฐานะพนักงานของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ในส่วนหลังคือ การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยแก่โจทก์กับพวกตามคำสั่งที่ พ. 24/2542 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีคำสั่งสืบเนื่องจากการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งที่ พ. 134/2541 คำสั่งที่ พ. 192/2542 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีคำสั่งสืบเนื่องจากการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งที่ พ. 183/2541 คำสั่งที่ พ. 234/2544 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยแก่โจทก์กับพวกกรณีการอำนวยสินเชื่อของธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาสระบุรี คำสั่งที่ พ. 240/2544 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยแก่โจทก์กรณีการอำนวยสินเชื่อของธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาเชียงใหม่ และคำสั่งที่ พ. 241/2544 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยแก่โจทก์กับพวกกรณีมีการดำเนินการให้พนักงานในสังกัดฝ่ายกิจการสาขาภูมิภาคเซ็นหนังสือลาออกไว้ล่วงหน้านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้การแต่งตั้งคณะกรมการสอบสวนทั้งห้าชุดจะมุ่งเฉพาะตัวโจทก์ แต่สถานะในฐานะเป็นพนักงานของโจทก์จะกระทบกระเทือนก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 วินิจฉัยว่า โจทก์กระทำผิดจริงและลงโทษสืบเนื่องจากการสอบสวนความผิดทางวินัยนั้น ลำพังการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยแก่โจทก์ยังหาทำให้มีผลเป็นการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ใด ๆ ของโจทก์ในฐานะพนักงานของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวได้เช่นกัน
ส่วนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่สั่งพักงานโจทก์ตามคำสั่งที่ พ. 127/2544 เห็นได้ว่าเป็นคำสั่งที่จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 คือ ข้อบังคับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฉบับที่ 17 เรื่อง ระเบียบปฏิบัติของพนักงานธนาคารว่าด้วยวินัย การสอบสวน การลงโทษพนักงานและลูกจ้าง การอุทธรณ์การถูกลงโทษของพนักงานและลูกจ้าง พ.ศ.2520 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย และคำสั่งดังกล่าวมีผลกระทบถึงโจทก์โดยตรง ดังนั้น หากคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบ โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนได้
ปัญหาว่าคำสั่งดังกล่าวชอบหรือไม่ ข้อบังคับกำหนดไว้ในข้อ 11 ซึ่งมีข้อความ ดังนี้
“ข้อ 11 เมื่อพนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดถูกกล่าวหาและถูกสอบสวนว่ากระทำผิดหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่าหากให้ผู้นั้นคงอยู่ในหน้าที่จะเป็นการเสียหายแก่ธนาคาร ก็ให้รายงานตามลำดับจนถึงผู้จัดการเพื่อพิจารณาสั่งพักงาน
ผู้จัดการมีอำนาจสั่งให้พนักงานหรือลูกจ้างพักงานได้ทุกตำแหน่ง เว้นแต่พนักงานตำแหน่งรองผู้จัดการ ที่ปรึกษา หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าส่วนหรือเทียบเท่า ให้ผู้จัดการเสนอขออนุมัติคณะกรรมการ
การพักงานนั้นให้พักจนกว่าการสอบสวนพิจารณาถึงที่สุด…”
ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาได้ความว่า โจทก์ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย และถูกดำเนินคดีอาญา นอกจากนี้โจทก์ยังถูกกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นการข่มขู่ คุกคาม พนักงานที่ให้ถ้อยคำเป็นพยานต่อเจ้าพนักงาน คณะกรรมการสอบสวน และพนักงานที่ได้รับมอบหมายให้เป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของธนาคารในหลายลักษณะ เช่น ฟ้องกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ข่มขู่ด้วยวาจา แจ้งความกล่าวหาและมีการจับกุมพนักงานธนาคาร ทั้งที่การสอบสวนทางวินัยยังไม่ยุติ ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้กระทำการโดยมีเจตนาที่จะขัดขวางหรือยับยั้งการสอบสวนข้อเท็จจริง หรือการสอบสวนความผิดทางวินัย แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ข่มขู่ผู้ใดด้วยวาจาโดยผิดกฎหมายก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์กระทำการขัดขวางหรือยับยั้งการสอบสวนข้อเท็จจริง หรือการสอบสวนความผิดทางวินัยดังกล่าว ทำให้การสอบสวนข้อเท็จจริงหรือการสอบสวนความผิดทางวินัยไม่อาจดำเนินไปได้ด้วยดี เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่หากให้โจทก์คงอยู่ในหน้าที่จะเป็นการเสียหายแก่ธนาคาร เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยถูกดำเนินคดีอาญา และเป็นกรณีที่หากให้โจทก์คงอยู่ในหน้าที่จะเป็นการเสียหายแก่ธนาคาร ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้น โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์มีคำสั่งให้พักงานโจทก์เพื่อรอฟังผลการสอบสวนทางวินัย จึงชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่สั่งพักงานโจทก์ และคำสั่งอื่นตามคำฟ้องและนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง โดยให้คำพิพากษามีผลผูกพันไปถึงลูกจ้างอื่นด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share