คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2425/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งอนุญาตได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องของจำเลยแต่เพียงว่า สำเนาให้โจทก์รวมสั่งในอุทธรณ์ และสั่งในอุทธรณ์ว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดรับเป็นอุทธรณ์ของจำเลยแม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาต แต่การที่สั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย พออนุโลมได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้แล้ว โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของบริษัทอ. ซึ่งโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยโจทก์เสียค่าซ่อมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แทนผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัย เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในมูลละเมิด เมื่อโจทก์ฟ้องโดยเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยที่ 1และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 จึงมีสิทธิเท่ากับสิทธิของผู้เอาประกันภัยมีอยู่โดยมูลหนี้ตามมาตรา 226 วรรคแรก ฉะนั้น เมื่อผู้เอาประกันภัยต้องฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 448 วรรคแรกโจทก์ก็ต้องฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวด้วย โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 3 จะยกอายุความเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448มาปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 3เกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยจึงต้องนำอายุความตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยมาปรับแก่คดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน9ร -7807 กรุงเทพมหานคร ไว้จากบริษัทอีเล็คโทรลักซ์(ประเทศไทย) จำกัด มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่3 มกราคม 2532 สิ้นสุดวันที่ 3 มกราคม 2533 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-3504 พิจิตร และเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-3504พิจิตร และเป็นนายจ้างหรือตัวการในทางการที่จ้าง หรือมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวไปในกิจการหรือในทางการค้าของตนในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยทุกประเภท และเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-3504 พิจิตรประเภทประกันภัยค้ำจุน โดยไม่จำกัดจำนวน เมื่อวันที่ 26กุมภาพันธ์ 2532 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา นายเรวัตร พิมพาสอนได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9ร -7807 กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ แล่นไปตามถนนชมฐิระเวชจากทางด้านจังหวัดนครสวรรค์มุ่งหน้าไปทางอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตรด้วยความระมัดระวัง เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุบริเวณถัดจากทางรถไฟตัดกับถนนชมฐิระเวช เข้าสู่เขตเทศบาลอำเภอตะพานหิน จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-3504 พิจิตร แล่นสวนทางมาบนถนนเดียวกันจากทางด้านเขตเทศบาลอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครสวรรค์ ตามคำสั่งในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเฉี่ยวชนรถยนต์ที่โจทก์ได้รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดอู่สินชัยทำการซ่อมแซม เป็นค่าแรงในการซ่อม 7,000 บาท ค่ายกลากรถ 1,200 บาท ค่าอะไหล่ 12,310 บาท รวมเป็นเงิน 20,510 บาท โจทก์ชำระไปครบถ้วนแล้วจึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจำเลยทั้งสามให้ใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 22,911.33 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,510 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้น 1 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 20,510 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยทั้งสามขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ แต่คดีนี้ ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาของจำเลยทั้งสามแต่เพียงว่า สำเนาให้โจทก์รวมสั่งในอุทธรณ์ และสั่งในอุทธรณ์ว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดรับเป็นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสามอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม พออนุโลมได้ว่า ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสามอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิวรรคแรก แล้ว ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามต่อไปจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ข้อเดียวว่า คดีนี้เกิดเหตุวันที่ 26กุมภาพันธ์ 2532 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดในมูลละเมิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2534 จึงพ้น 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคแรก เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 พ้นความรับผิดจำเลยที่ 3 ก็พ้นความรับผิดด้วย โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน และโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะโจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 882 ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้จึงมีว่า กรณีของโจทก์ต้องบังคับตามกฎหมายบทใด เห็นว่า โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถยนต์ของบริษัทอีเล็คโทรลักซ์ (ประเทศไทย) จำกัดซึ่งโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยได้รับความเสียหายโจทก์เสียค่าซ่อมแซมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แทนผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในมูลละเมิด ซึ่งหากผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เอง ก็ต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ตัวผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในการที่ละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย ที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880สิทธิของโจทก์จึงมีเท่ากับสิทธิของผู้เอาประกันภัยมีอยู่โดยมูลหนี้ต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 วรรคแรก ฉะนั้น เมื่อผู้เอาประกันภัยต้องฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก โจทก์ก็ต้องฟ้องจำเลยที่ 1และที่ 2 ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวด้วย เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1และที่ 2 จึงขาดอายุความ
ส่วนกรณีของจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ทำละเมิดจำเลยที่ 3 จะยกอายุความเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 มาปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 3 เกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัย จึงต้องนำอายุความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่งซึ่งมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยมาปรับแก่คดี โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัย คดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share