คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2416/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัท ร. ประกอบธุรกิจส่งวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการแก่สาธารณะหรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาต พ. ทราบว่าตนในฐานะผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท จะต้องถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงโอนหุ้นของตนให้แก่จำเลยและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท เพื่อหลีกเลี่ยงให้ตนเองพ้นความรับผิดทางอาญาโดยให้จำเลยเป็นผู้รับโทษในทางอาญาแทนตน ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องบริษัท ร. และจำเลยเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ฐานร่วมกันส่งวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการแก่สาธารณะหรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย คดีถึงที่สุด นิติกรรมการโอนหุ้นระหว่าง พ. กับจำเลยจึงมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พ. ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานยักยอกซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้และพนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 500,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยรับโอนหุ้นของผู้เสียหายมาเพื่อครอบครองแทนแล้วเบียดบังทรัพย์ของผู้เสียหายเป็นของตนโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นการยักยอกทรัพย์ตามฟ้อง พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 5 เดือน และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 500,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ผู้เสียหายโอนหุ้นให้จำเลยครอบครองแทนเท่านั้น การที่จำเลยอ้างว่าหุ้นบริษัทรังสิต เคเบิ้ลทีวี จำกัด จำนวน 5,000 หุ้น ตามฟ้องเป็นของตนเพราะผู้เสียหายโอนให้โดยชอบเป็นการแสดงถึงเจตนาทุจริต ถือเอาประโยชน์โดยไม่ชอบจากการที่ผู้เสียหายหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้เสียหายต้องรับผิดตามกฎหมาย แม้จะมิได้เป็นไปตามครรลองโดยชอบ แต่จำเลยก็หาอาจอ้างเหตุดังกล่าวถือเอาหุ้นจำนวนดังกล่าวเป็นของตน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอก พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองโดยโจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า ก่อนเกิดเหตุนายพิศิษฐ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทรังสิต เคเบิ้ลทีวี จำกัด และเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท นายพิศิษฐ์ทราบว่าบริษัทรังสิต เคเบิ้ลทีวี จำกัด ประกอบธุรกิจส่งวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการแก่สาธารณะหรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาตและทราบว่าตนในฐานะผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจะต้องถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงจดทะเบียนโอนหุ้นของตนให้แก่จำเลยจำนวน 5,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท และจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทแทน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องบริษัทรังสิต เคเบิ้ลทีวี จำกัด และนายสิงหนาถกับจำเลย เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ฐานร่วมกันส่งวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการแก่สาธารณะหรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าว คดีถึงที่สุดแล้ว ตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4841/2546 ของศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า นายพิศิษฐ์ไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น เห็นว่า พฤติการณ์ตามที่ได้ความยุตินั้น บริษัทรังสิต เคเบิ้ลทีวี จำกัด ประกอบธุรกิจส่งวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการแก่สาธารณะหรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาตและนายพิศิษฐ์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของบริษัทได้โอนหุ้นของตนและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการเป็นจำเลยเพื่อหลีกเลี่ยงให้ตนเองพ้นความรับผิดทางอาญา โดยให้จำเลยเป็นผู้รับโทษในทางอาญาแทนตน นิติกรรมการโอนหุ้นระหว่างนายพิศิษฐ์กับจำเลยจึงมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นายพิศิษฐ์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานยักยอกซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้และพนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอีกต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share