แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่สอบสวนความผิดทางวินัยแก่โจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการในกรมฯ เมื่อจำเลยทำหนังสืออันมีข้อความเท็จร้องเรียนกล่าวหาโจทก์ต่ออธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขซึ่งอาจทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน
ข้อความที่จำเลยร้องเรียนมีความหมายไปในทางกล่าวหาว่าโจทก์ประพฤติตนไม่สมควรเป็นไปในทำนองเรียกร้องเอาเงินจากจำเลยโดยไม่สุจริต จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ด้วย
ความผิดในฐานหมิ่นประมาท แม้จะกระทำด้วยเอกสารเป็นหนังสือร้องเรียน แต่ก็หาได้กระทำด้วยการโฆษณาไม่จำเลยคงมีความผิดตามมาตรา 326 เท่านั้น แม้โจทก์จะมิได้อ้างบทมาตรานี้ในคำขอท้ายฟ้อง คงอ้างแต่มาตรา 328 ก็เป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษตามบทมาตราที่ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 4
หากบทกฎหมายที่จำเลยกระทำผิดกรรมเดียวมีอัตราโทษเท่ากันอยู่ 2 บท ศาลก็ลงโทษบทหนึ่งบทใดในสองบทนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับราชการในตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลขจำเลยได้ทำหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขผู้บังคับบัญชาของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ว่าจำเลยเป็นผู้ประมูลซื้อรถยนต์เก่าของที่ทำการไปรษณีย์ฯ ชำระราคาแล้ว แต่โจทก์มิได้มอบทะเบียนรถยนต์และโอนรถยนต์ให้ จำเลยทราบภายหลังว่า โจทก์ต้องการเงินตอบแทน 2,000 บาทจากจำเลยตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อจำเลยไม่ให้โจทก์จึงแกล้งหน่วงเหนี่ยวการโอน ขอความเป็นธรรมให้สั่งโจทก์โอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่จำเลย อันเป็นข้อความเท็จ การกระทำของจำเลยเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ โดยกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 328
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้องโจทก์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 328 ให้ลงโทษตามมาตรา 328 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นข้าราชการได้รับเงินเดือนจากงบประมาณเงินเดือน เป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่สอบสวนความผิดทางวินัยแก่โจทก์ จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายเมื่อจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่ออธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขซึ่งอาจทำให้โจทก์เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137
ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ข้อความที่จำเลยร้องเรียนต่ออธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์นั้นเห็นว่า ข้อความที่จำเลยร้องเรียน มีความหมายไปในทางกล่าวหาว่าโจทก์ประพฤติตนไม่สมควร เป็นไปในทำนองเรียกร้องเอาเงินของจำเลยโดยไม่สุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 นั้น ยังเป็นการคลาดเคลื่อนอยู่เพราะความผิดของจำเลยในฐานหมิ่นประมาทนี้ แม้จะกระทำด้วยเอกสาร แต่ก็หาได้กระทำด้วยการโฆษณาไม่ จำเลยจึงคงมีความผิดตามมาตรา 326 เท่านั้น แม้โจทก์จะมิได้อ้างบทมาตรานี้ในคำขอท้ายฟ้อง คงอ้างแต่มาตรา 328 ก็เป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษตามบทมาตราที่ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 4
พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 326 ความผิดทั้ง 2 บทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามมาตรา 137 นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์