คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2403/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ทั้งไม่ได้ระบุว่าคู่สัญญาจะไปจดทะเบียนการซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่มีข้อความชัดว่าให้เรียก ค. เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ว่าผู้ขาย เรียกโจทก์ว่าผู้ซื้อกับมีข้อความด้วยว่าผู้ขายได้ขายนาพิพาทให้ผู้ซื้อและยอมมอบนาให้ผู้ซื้อเสร็จตั้งแต่วันทำสัญญา แสดงว่าโจทก์กับ ค. มีเจตนาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เมื่อไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะข้อตกลงแบ่งชำระราคาเป็นงวด ๆ ไม่ใช่เงื่อนไขแห่งสัญญา
จำเลยทั้งหกรับโอนที่นาพิพาทมาร่วมกัน ความรับผิดที่ต้องชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจจะแบ่งแยกกันได้ แม้จำเลยบางรายจะไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยนั้น ๆ ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ซื้อที่นาจาก ค จำนวน 1 แปลงตาม น.ส. 3 กเลขที่ 597 ในราคา 80,000 บาท โดยนายสมบูรณ์ พื้นผา เป็นผู้มอบเงินจำนวน 26,000 บาทให้ ค และลงนามในสัญญาจะซื้อขายแทนต่อมาวันที่ 25 มกราคม 2525 โจทก์มอบเงินให้ ค อีกจำนวน 34,000บาท ส่วนที่เหลือ 20,000 บาท โจทก์จะชำระในวันโอนสิทธิในที่ดิน ค ได้มอบ น.ส. 3 ก เลขที่ 597 ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2525 ค ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1ถึง 6 เป็นทายาทของ ค ได้รับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวไปจึงต้องผูกพันกับโจทก์ตามเงื่อนไขในสัญญาจะซื้อขาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกในฐานะผู้รับมรดกของ ค โอนที่นา น.ส. 3 ก เลขที่ 597 ให้โจทก์ โดยโจทก์จะชำระเงินที่ค้างจำนวน 20,000 บาท หากจำเลยทั้งหกไม่ยอมโอน ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 60,000บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่าสัญญาซื้อขายท้ายฟ้องทั้งสองฉบับไม่สมบูรณ์ ส ลงลายมือชื่อด้านหลังในสัญญาซื้อขายท้ายฟ้อง ณสำนักงานของทนายโจทก์โดยไม่เข้าใจในเรื่องที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง และลายมือชื่อ ค ในเอกสารท้ายฟ้องเป็นลายมือปลอมไม่มีผลผูกพันจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งหกโอนที่นาพิพาทให้โจทก์ โดยให้โจทก์ชำระเงินที่ยังค้างอยู่ 20,000 บาท ให้จำเลย หากจำเลยไม่ยอมโอนก็ให้จำเลยทุกคนร่วมกันคืนเงินจำนวน 60,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาเอกสารหมาย จ.1 และจ.2 เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายไม่เป็นโมฆะและแม้จะฟังว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดก็เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไข เมื่อนายเคนถึงแก่กรรมก่อนที่เงื่อนไขจะสำเร็จ โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทรับมรดกได้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการซื้อขายเป็นโมฆะพิพากษายกฟ้องโจทก์ไม่ชอบขอให้บังคับจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ทุกประการนั้นเห็นว่า สัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ไม่มีข้อความระบุว่าคู่สัญญาจะไปจดทะเบียนการซื้อขายกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวมีข้อความชัดเจนว่าให้เรียกนายเคนว่าผู้ขาย เรียกโจทก์ว่าผู้ซื้อ ผู้ขายได้ขายนาพิพาทให้ผู้ซื้อเป็นจำนวนเงิน 80,000 บาท และยอมมอบ น.ส. 3 ที่นาพิพาทให้ผู้ซื้อเสร็จตั้งแต่วันทำสัญญานั้นแล้ว เพียงแต่โจทก์ยังไม่ได้ชำระราคาที่เหลืออีกจำนวน 20,000 บาทเท่านั้น แสดงว่าโจทก์กับนายเคนมีเจตนาซื้อขายกันเสร็จเด็ดขาด ได้มอบ น.ส. 3ที่นาที่ซื้อขายให้โจทก์ไว้ด้วย เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การซื้อขายจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 ประกอบ มาตรา 115 และมิใช่เป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไข การแบ่งชำระราคาเป็นงวดไม่ใช่เงื่อนไขแห่งสัญญา แม้หลังจากนายเคนถึงแก่กรรมแล้ว นางสู่เจริญพร ภรรยานายเคนและโจทก์ได้ทำบันทึกกันไว้ที่ด้านหลังเอกสารหมาย จ.1 ว่า เงินที่ผู้ซื้อค้างอยู่จำนวน 20,000 บาทนั้นจะจ่ายต่อเมื่อผู้ขายจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อ และลงลายมือชื่อไว้ทั้งสองฝ่ายนั้นก็หาทำให้สัญญาซื้อขายที่เป็นโมฆะแล้วกลับมีผลเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายที่นาพิพาทระหว่างโจทก์กับนายเคนเป็นโมฆะจึงชอบแล้ว แต่ศาลฎีกาเห็นว่าการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทุกคำขอนั้นยังไม่ถูกต้องเพราะโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องอีกข้อหนึ่งว่า หากจำเลยทั้งหกไม่ยอมโอนที่นาพิพาทให้โจทก์ ก็ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 60,000บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ด้วย ฉะนั้น เมื่อการซื้อขายเป็นโมฆะนายเคนจะต้องคืนเงินจำนวน 60,000 บาทให้โจทก์เมื่อนายเคนถึงแก่กรรม หน้าที่และความรับผิดในการคืนเงินดังกล่าวเป็นกองมรดกตกทอดแก่จำเลยทั้งหกซึ่งเป็นทายาทนายเคนด้วย จำเลยทั้งหกผู้รับมรดกของนายเคนต้องร่วมกันรับผิดคืนเงินจำนวน 60,000 บาท ให้โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง คงยกฟ้องได้เฉพาะคำขอที่ให้จำเลยทั้งหกโอนที่นาพิพาทให้โจทก์เท่านั้น จำเลยทั้งหกรับโอนที่นาพิพาทมาร่วมกัน ความรับผิดที่ต้องร่วมกันชำระเงินให้โจทก์เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6จะไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ในข้อที่ไม่ต้องโอนที่นาพิพาทให้โจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) และมาตรา 247 จึงให้ยกฟ้องในคำขอที่ให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ให้โอนนาพิพาทให้โจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 คงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 คืนเงินจำนวน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ตามคำขอข้อหลังของโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน60,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ คำขอให้โอนที่นาพิพาทให้โจทก์ให้ยกฟ้องถึงจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์’.

Share