แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องขอให้ลงโทษตามก.ม.อาญา ม.336(2) นั้นโจทก์จะต้องบรรยายในฟ้องด้วยว่า จำเลยมิได้รับอนุญาตอันชอบด้วย ก.ม.มิฉนันย่อมจะเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ลงโทษจำเลยไม่ได้
ที่ชายทะเลซึ่งน้ำท่วมถึงนั้นหาเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินหรือทางสาธารณะเสมอไปไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกสมคบกันปักรั้วกั้นที่ชายตลิ่งชายทะเลน้ำท่วมถึง ซึ่งอยู่ข้างสพานเสริมสันติอันเป็นทางสาธารณะสำหรับใช้น้ำเรือเข้าออก ทำให้สาธารณชนไม่สามารถนำเรือเข้าออกได้ โดยจำเลยมีเจตนาที่จะเอาที่ตรงนั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัว ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอผู้มีอำนาจหน้าที่ได้สั่งให้จำเลยรื้อถอนแล้วแต่ไม่ยอมรื้อตามคำสั่งขอให้ลงโทษตาม ก.ม.อาญา ม.๓๓๔(๔) ๓๓๖(๑) พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ ม.๑๒๒ พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารแผ่นดิน พ.ศ.๒๔๙๕ ม.๓๗
จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยปักหลักทำรั้วในที่ดินมีโฉนดของจำเลยไม่เป็นการกีดขวางทางสาธารณะ คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ชอบด้วย ก.ม.
ศาลชั้นต้นฟังว่าที่พิพาทมีสภาพน้ำทะเลท่วมใช้เดินเรือได้จนทางนั้นเป็นร่องน้ำสำหรับเดินเรือแสดงว่าเจ้าของได้สละหรืออุทิศให้เป็นทางสาธารณะจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ฟังได้ว่าเป็นทางหลวงตาม ก.ม.อาญา ม.๖(๑๑) จำเลยทำรั้วกั้นจึงผิด ม.๒๓๖(๒) ศาลลงโทษตามบทที่ถูกได้แม้โจทก์จะอ้าง ม.๓๓๖(๑) จำเลยมีความผิดตาม ม.๓๓๔(๒) ด้วย พิพากษาปรับกะทงแรก ๑๐ บาท กะทงหลัง ๔๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จะลงโทษจำเลยตาม ม.๓๓๖(๒) ได้นั้นโจทก์จะต้องบรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยมิได้รับอนุญาตอันชอบด้วย ก.ม.เพราะเป็นองค์ประกอบแห่งความผิด ฟ้องโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ ทั้งฟ้องโจทก์ก็ไม่มีข้อความพอที่จะแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะลงโทษตาม ม.๓๓๖(๒) ส่วนข้อหาฐานผิดคำสั่งเจ้าพนักงานนั้นเห็นว่าที่ชายตลิ่งซึ่งน้ำทะเลขึ้นถึงนั้นหาใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเสมอไปไม่และข้อเท็จจริงที่ฟังมายังไม่พอถึงได้ว่าที่พิพาทเป็นทางหลวงหรือมีการอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติไปแล้วไม่ คดีนี้เป็นคดีอาญาโจทก์ต้องสืบพิสูจน์ให้ชัดแจ้ง จำเลยหามีผิดตามบท ก.ม.ที่โจทก์อ้าง พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์.