แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์แต่งตั้งจำเลยเป็นทนายความ จำเลยมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนโจทก์ได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของโจทก์ การที่จะซักค้านพยานโจทก์ปากใดหรือไม่ หรือสมควรนำพยานปากใด เข้าสืบหรือไม่ย่อมอยู่ในดุลพินิจของจำเลย แต่การ ใช้ดุลพินิจนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ การที่จำเลยมอบอำนาจให้เสมียนทนายไปเลื่อนคดี หลังจากที่มีการสืบพยานปากนาย อ. เสร็จแล้วจนเป็นเหตุให้ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ทำให้ไม่มีโอกาสซักค้านพยานปากดังกล่าวก็ดี การที่จำเลยไม่นำตัวโจทก์เข้าเบิกความทั้ง ๆ ที่โจทก์แสดงเจตนาว่าจะเข้าเบิกความก็ดี การที่จำเลยไม่แจ้งวันนัดเดินเผชิญสืบรวมทั้งวันนัดฟังคำพิพากษาให้โจทก์ทราบ และไม่ใส่ใจไปฟังคำพิพากษาด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นไปฟังแทนก็ดี การไม่อุทธรณ์ คำพิพากษาโดยมิได้ปรึกษาโจทก์ หรือแจ้งให้โจทก์ ทราบถึงเหตุผลที่ไม่ควรอุทธรณ์ก็ดีล้วนแต่เป็นการ ใช้ดุลพินิจที่ปราศจากเหตุผล มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหาย แก่โจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยละเลยต่อหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติและเป็นการผิดสัญญาจ้างว่าความ จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยได้ทำหน้าที่ทนายความให้โจทก์ในศาลชั้นต้นเป็นส่วนใหญ่แล้ว โจทก์จึงต้องใช้ค่าแห่งการงานที่จำเลยทำให้โจทก์ด้วยการใช้เงินตามควรแห่งการนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในส่วนนี้ให้แก่จำเลยจำนวน 10,000 บาท และให้จำเลยคืนค่าทนายความที่รับไปแล้วให้โจทก์ 40,000 บาท จึงเหมาะสมแล้วสำหรับค่าเสียหายนั้น โจทก์นำสืบตนเองเพียงปากเดียวลอย ๆโดยมิได้ชี้ชัดให้เห็นว่า หากจำเลยปฏิบัติหน้าที่ทนายความอย่างเต็มที่แล้ว โจทก์จะชนะคดีในส่วนใดมากน้อยเพียงใดจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เต็มตามฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยจงใจละเลยต่อหน้าที่ทนายความและผิดสัญญาจ้างว่าความ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้ว่าจ้าง ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 696,785 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 605,900 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29พฤษภาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าจ้างว่าความที่รับไปจากโจทก์แล้วเป็นเงิน 40,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งว่า โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยเป็นทนายความแก้ต่างให้โจทก์ในคดีที่โจทก์ถูกนายนิทัศน์ ศรีวรเพชร ฟ้องที่ศาลแพ่งฐานผิดสัญญาจ้างทำของให้ชำระเงิน ตามสัญญาเป็นเงิน 942,767 บาท ตามคดีหมายเลขดำที่ 24062/2535 หมายเลขแดงที่ 17095/2537 โดยจำเลยตกลงแก้ต่างให้โจทก์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด โจทก์ได้ชำระค่าจ้างว่าความจำนวน 50,000 บาท ให้จำเลยแล้ว ต่อมาศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินตามฟ้องให้แก่นายนิทัศน์ จำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างว่าความต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่าจำเลยไม่ถามค้านพยานโจทก์หรือนำสืบพยานจำเลยปากนายอนุรักษ์ พิมลศรี สถาปนิก ผู้ออกแบบตกแต่งบ้านให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รู้รายละเอียดว่า นายนิทัศน์ตกแต่งบ้านโจทก์ถูกต้องตามแบบแปลนหรือไม่และแถลงไม่นำโจทก์ซึ่งเป็นตัวความในคดีดังกล่าวเข้าเบิกความทั้งไม่แจ้งให้โจทก์ทราบวันนัดที่ศาลจะไปเดินเผชิญสืบทำให้โจทก์หมดโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาล และไม่แจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ทราบทำให้เสียสุทธิอุทธรณ์ฎีกา เห็นว่า เมื่อจำเลยรับจ้างเป็นทนายความแก้ต่างให้โจทก์และโจทก์ได้แต่งตั้งจำเลยเป็นทนายความโดยชอบแล้ว จำเลยย่อมมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนโจทก์ได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของโจทก์ และการที่จะซักค้านพยานโจทก์ปากใดอย่างไรหรือไม่ หรือสมควรนำพยานปากใดเข้าสืบหรือไม่ก็อยู่ในอำนาจหรือดุลพินิจของจำเลย แต่การใช้ดุลพินิจนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ การที่จำเลยมอบอำนาจให้เสมียนทนายไปเลื่อนคดีหลังจากที่มีการสืบพยานโจทก์ปากนายอนุรักษ์เสร็จแล้ว จนเป็นเหตุให้ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีทำให้ไม่มีโอกาสซักค้านพยานปากนายอนุรักษ์ก็ดีการที่จำเลยไม่นำตัวโจทก์เข้าเบิกความเป็นพยานทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้แสดงเจตนาว่าจะเข้าเบิกความเป็นพยานแล้วก็ดีการที่จำเลยไม่แจ้งวันนัดเดินเผชิญสืบให้โจทก์ทราบรวมทั้งมิได้แจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาให้โจทก์ทราบและไม่ใส่ใจที่จะไปฟังคำพิพากษาด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นไปฟังแทนก็ดีการไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์โดยมิได้ปรึกษาโจทก์ หรือแจ้งให้โจทก์ทราบถึงเหตุผลที่ไม่ควรอุทธรณ์ก็ดีล้วนแต่เป็นการใช้ดุลพินิจที่ปราศจากเหตุผลมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยละเลยต่อหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติและเป็นการผิดสัญญาจ้างว่าความ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องคืนค่าทนายความทั้งหมดกับชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด สำหรับค่าทนายความนั้นเห็นว่า จำเลยได้ทำหน้าที่ทนายความให้โจทก์ในศาลชั้นต้นเป็นส่วนใหญ่แล้ว โจทก์จึงต้องใช้ค่าแห่งการงานที่จำเลยทำให้โจทก์ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นการที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในส่วนนี้ให้แก่จำเลยเป็นเงิน 10,000 บาท และให้จำเลยคืนค่าทนายความที่รับไปแล้วให้แก่โจทก์ 40,000 บาท นับว่าเหมาะสมดีแล้วส่วนค่าเสียหายนั้นโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่าหากจำเลยทำหน้าที่ทนายความในการซักค้านพยานปากนายอนุรักษ์แจ้งให้โจทก์ทราบกำหนดวันนัดเดินเผชิญสืบและนำโจทก์เข้าเบิกความเป็นพยานจะทำให้โจทก์ชนะคดีตามที่ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ การที่จำเลยละทิ้งหน้าที่ทำให้โจทก์ต้องชำระเงินเกินไป 535,900 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์นำสืบตนเองเพียงปากเดียวลอย ๆ มิได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า หากจำเลยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความจำเลยเต็มที่แล้ว โจทก์จะชนะคดีส่วนใดมากน้อยเพียงใดจึงไม่อาจกำหนดให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายเต็มตามฟ้องได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงคำเบิกความของพยานโจทก์ในคดีเดิมคือนายอนุรักษ์ซึ่งโจทก์ก็อ้างเป็นพยานของตนด้วยแล้วปรากฏว่า นายอนุรักษ์เบิกความว่านายอนุรักษ์เป็นผู้ออกแบบและเป็นผู้ตรวจผลงานที่นายนิทัศน์ได้ทำขึ้นแต่ละงวดหากนายนิทัศน์ทำไม่ถูกต้องตามแบบ นายอนุรักษ์จะสั่งให้นายนิทัศน์แก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งนายนิทัศน์ได้แก้ไขให้ถูกต้องครบทุกครั้ง ดังนั้น ถึงแม้จะมีการสืบพยานตัวโจทก์ความรับผิดของโจทก์ที่มีต่อนายนิทัศน์จะแตกต่างกันก็คงจะไม่มากนัก จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายในส่วนนี้ต่อโจทก์จำนวน 40,000 บาทและเนื่องจากค่าทนายความที่จำเลยต้องคืนให้โจทก์กับค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้ให้โจทก์ต่างเป็นหนี้เงินจำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด คือวันที่ 9 ตุลาคม 2539 อันเป็นวันครบกำหนดที่โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์รวมเป็นเงิน80,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์