แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันนัดชี้สองสถานว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดการชี้สองสถาน แล้ววินิจฉัยว่า การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ผู้ได้กรรมสิทธิ์ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 78 โจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(1) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเช่นนี้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 24 ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง แม้โจทก์ไม่ได้โต้แย้งไว้ก็มีสิทธิยกขึ้นอุทธรณืได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24,227
โจทก์ฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ซึ่งได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยได้ให้คนงานของจำเลยมารื้อรั้วสังกะสีซึ่งล้อมที่ดินพิพาทออกทั้งสี่ด้านและทำลายลานคอนกรีตในที่พิพาทของโจทก์บางส่วนเสียหาย ดังนี้แม้ขณะโจทก์ฟ้องศาลยังมิได้มีคำสั่งว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาท ก็ถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปี จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2529 จำเลยได้ให้คนงานมารื้อรั้วสังกะสีที่ล้อมที่ที่ล้อมที่พิพาททั้งสี่ด้านออก และทำลายลานคอนกรีตบางส่วนของโจทก์เสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง ให้จำเลยทำการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแล้วโอนให้กับโจทก์ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทตามฟ้อง และไม่ได้ครอบครองที่ดินตามฟ้อง ที่พิพาทเป็นของจำเลยใช้เป็นทางเดินหนีไฟของผู้อยู่อาศัยในตึกแถว ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์และคำให้การจำเลยแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดการชี้สองสถานและวินิจฉัยว่า การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น ผู้ได้กรรมสิทธิ์จะต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 78 กรณีของโจทก์ก็เช่นกัน โจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา188(1) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ไม่ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยครอบครองปรปักษ์อย่างเดียว แต่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยรื้อลานคอนกรีตและรั้วล้อมที่พิพาทที่โจทก์สร้างขึ้นไว้ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ด้วย โจทก์เสนอคดีมาเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาท จึงชอบแล้ว พิพากษากลับยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดชี้สองสถาน คดีของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันนัดชี้สองสถานว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดการชี้สองสถานและให้รอฟังคำพิพากษา แล้ววินิจฉัยว่า การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1382 นั้น ผู้ได้กรรมสิทธิ์จะต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 78 กรณีของโจทก์ก็เช่นกันโจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(1) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง การวินิจฉัยเช่นนี้ เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง แม้จำเลย (น่าจะเป็นโจทก์) จะมิได้โต้แย้งไว้ในศาลชั้นต้น ก็มีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ในศาลอุทธรณ์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24, 227 ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงต้องเสนอคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(1) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ โจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์จำเลยได้ให้คนงานของจำเลยมารื้อรั้วสังกะสีซึ่งล้อมที่พิพาทออกทั้งสี่ด้านและทำลายลานคอนกรีตในที่พิพาทของโจทก์บางส่วนเสียหายดังนี้ ถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จากโจทก์และชั้นฎีกาจากจำเลยเรื่องละห้าร้อยบาทนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์จำเลยอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227ซึ่งตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ 2 (ข)ให้เรียกเรื่องละสองร้อยบาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เรียกเกินมาให้โจทก์จำเลยไป”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เรียกเกินมาให้โจทก์จำเลย