คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2395/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะโต้แย้งยอดหนี้ที่เพิ่มขึ้นภายหลังวันที่ 4 เมษายน2528 แต่จำเลยก็รับว่าในวันที่ 4 เมษายน 2528 จำเลยเป็นหนี้โจทก์208,061.38 บาท จึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นโจทก์ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 9(2)(3) โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ แต่ส่งให้ไม่ได้เพราะจำเลยย้ายที่อยู่ ได้ตรวจสอบทะเบียนบ้านตามที่จำเลยแจ้งตอนยื่นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากก็ไม่ปรากฏชื่อจำเลยอยู่ในทะเบียนบ้าน จึงได้ลงประกาศหนังสือพิมพ์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้รวมสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ตามพฤติการณ์ดังกล่าว แม้จำเลยอ้างว่าไม่ทราบการทวนก็ถือได้ว่าจำเลยไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่เพื่อประวิงการชำระหนี้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(4) ข.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ สาขาวรจักร ประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและขายลดเช็ค และได้ทำสัญญาเบิกงานเกินบัญชีกับโจทก์ นับถึงวันที่ 25 เมษายน 2528 จำเลยเป็นโจทก์จำนวน208,061.38 บาท หลังจากนั้นจำเลยก็ขาดการติดต่อกับโจทก์ โจทก์ได้ติดตามทวงถามจำเลยชำระหนี้หลายครั้งแต่จำเลยเพิกเฉย ครั้งสุดท้ายได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวชำระหนี้บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยปรากฏว่าส่งไม่ได้ โจทก์จึงได้ส่งคำบอกกล่าวชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาจำเลย โดยวิธีประกาศทางหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2530 ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2530ซึ่งระยะเวลาประกาศห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โดยทั้งสองครั้งให้จำเลยชำระหนี้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ประกาศหนังสือพิมพ์ แต่จำเลยยังคงเพิกเฉยอีก พฤติการของจำเลยต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว รวมจำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 287,658.74 บาท ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ที่แน่นอนขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ได้บรรยายฟ้องในเรื่องดอกเบี้ยและการหักทอนบัญชีให้ชัดเจน ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากเงินภายในวงเงินที่มีเงินฝากเป็นประกันเป็นการเอาเปรียบจำเลย เพราะเงินฝากที่เป็นประกันนั้นจำเลยจะได้ดอกเบี้ยร้อยละ9 ต่อปี แต่โจทก์ให้จำเลยเบิกเงินยอดนี้ซึ่งเป็นของจำเลยโดยคิดเป็นของจำเลยโดยคิดเป็นการเบิกเงินเกินบัญชีทันทีและคิดดอกเบี้ยกับจำเลยร้อยละ 10.5 ต่อปี ทำให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ไปเปล่า ๆ ร้อยละ 1.5 ต่อปี การกระทำของโจทก์เป็นการเอากำไรโดยมิชอบ จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถือว่าดอกเบี้ยในส่วนนี้เป็นโมฆะ ทั้งหมด นับแต่วันทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแต่ละฉบับจำเลยมิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวดังฟ้องจำเลยมีโครงการทางการค้าที่จะได้เงินจำนวนมากในอนาคต จึงมีทางจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยจะโต้แย้งยอดหนี้ที่เพิ่มขึ้นภายหลังวันที่ 4 เมษายน 2528 แต่จำเลยก็ยอมรับว่าในวันที่ 4เมษายน 2528 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 208,061.38 บาทข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 9 (2) (3) และได้ความจากนางสาวประทุมโสตถิโยธิน พยานโจทก์ว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ แต่ส่งให้ไม่ได้เพราะจำเลยย้ายที่อยู่ โจทก์ได้สอบทะเบียนบ้านตามที่จำเลยแจ้งตอนยื่นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันก็ไม่ปรากฏมีชื่อจำเลยอยู่ในทะเบียนบ้าน จึงได้ลงประกาศหนังสือพิมพ์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้รวมสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแม้จำเลยอ้างว่าไม่ทราบการทวงถามก็ถือได้ว่าจำเลยไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่ เพื่อประวิงการชำระหนี้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 8 (4) จำเลยมิได้นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวทั้งปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยว่า จำเลยมีรายได้จากการลงแรงเข้าหุ้นกับร้านสุวิทย์ ขายผ้าได้เงินเดือน 15,000 บาท เท่านั้น ไม่มีทรัพย์อื่นใดอีก ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
พิพากษายืน.

Share