คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2388/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเสียเงินเพิ่มเนื่องจากผู้เสียภาษีไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 27 กำหนดไว้แน่นอนโดยไม่มีข้อยกเว้นให้งดเก็บแต่อย่างใด และจะลดได้ก็จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ศาลจึงไม่อาจพิจารณางดหรือลดเงินเพิ่มให้โจทก์ได้ ส่วนปัญหาการงดหรือลดเบี้ยปรับนั้น โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเอกสารรายงานผู้สอบบัญชีงบดุลของโจทก์รายละเอียดสินค้าคงเหลือ หมายเหตุประกอบงบดุลและรายการแสดงรายได้รายจ่ายและโจทก์ได้จัดส่งบัญชีและเอกสารพร้อมทั้งหลักฐานต่าง ๆ อีกทั้งมอบให้ ส.และท.ไปให้การต่อเจ้าพนักงานประเมิน 3 ครั้ง และรับทราบผลของการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เช่นนี้ พอฟังได้ว่าโจทก์มิได้มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงภาษีแต่ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานด้วยดีพอสมควร เพราะมิฉะนั้นแล้วเจ้าพนักงานประเมินคงจะไม่สามารถประเมินรายได้ของโจทก์ได้ แม้ว่าโจทก์จะไม่ได้มาหรือรับเอกสารของเจ้าพนักงานทุกครั้ง ก็อาจเป็นกรณีมีความจำเป็นหรือไม่ทราบก็อาจเป็นได้ จึงยังไม่พอฟังว่าโจทก์ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบสมควรลดเบี้ยปรับให้โจทก์กึ่งหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 และ 2532 พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทบริษัทจำกัดมีนายวิชัย เหล่าวณิชวิศิษฎ์ และนางสาวศมานันท์ อังกูรวารุชัยหรือเหล่าวณิชวิศิษฎ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท กระทำการแทนและผูกพันโจทก์และโจทก์มีวัตถุประสงค์จำหน่ายสุราภายในประเทศดังปรากฏตามหนังสือรับรองในเอกสารหมาย ล.2 จำเลยเป็นกรมในสังกัดกระทรวงการคลังมีหน้าที่ควบคุมและจัดเก็บภาษีอากร เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2534 จำเลยได้ออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตามหมายเรียกเลขที่ 143/34 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2534 ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 ไปยังโจทก์ให้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเงิน 95,034.85 บาทเบี้ยปรับเป็นเงิน 95,034.85 บาท และเงินเพิ่มเป็นเงิน 81,254.80บาท รวมเป็นเงิน 271,324 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเงิน 96,528.55 บาท เบี้ยปรับเป็นเงิน96,528.55 บาท และเงินเพิ่มเป็นเงิน 65,156.77 บาท รวมเป็นเงิน258,213 บาท ซึ่งรวมเป็นค่าภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มทั้งสิ้น529,537 บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 7670/2/100070 และเลขที่ 7670/2/100071 ลงวันที่28 กุมภาพันธ์ 2537 โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นไปโดยชอบหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าพยานจำเลยที่นำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานโจทก์ฟังได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินได้คำนวณรายได้ของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 และปี 2532 ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้นการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแสดงรายได้และรายจ่ายของโจทก์จึงไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินชอบที่จะปรับปรุงคำนวณกำไรสุทธิใหม่ได้ เมื่อการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์ชอบที่จะได้รับการงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามอุทธรณ์ของโจทก์หรือไม่ เพียงใดสำหรับปัญหาเงินเพิ่มนั้นประมวลรัษฎากร มาตรา 27 วรรคแรกบัญญัติว่า “บุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในหมวดต่าง ๆ แห่งลักษณะนี้เกี่ยวกับภาษีอากรประเมินให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ” และวรรคสองบัญญัติว่า “ในกรณีอธิบดีอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาชำระหรือนำส่งภาษี และได้มีการชำระหรือนำส่งภาษีภายในเวลาที่ขยายให้นั้นเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ลดลงเหลือร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน” จะเห็นได้ว่าการเสียเงินเพิ่มเนื่องจากผู้เสียภาษีไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดนั้นกฎหมายกำหนดไว้แน่นอนโดยไม่มีข้อยกเว้นให้งดเก็บแต่อย่างใด และจะลดได้ก็จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ศาลจึงไม่อาจพิจารณางดหรือเงินเพิ่มให้โจทก์ได้ส่วนปัญหาการงดหรือลดเบี้ยปรับนั้น ควรวินิจฉัยว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงและได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนด้วยดีหรือไม่เพียงใด พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยฟังได้ว่า โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 187 รายงานผู้สอบบัญชีแผ่นที่ 190งบดุลของโจทก์แผ่นที่ 191, 192, 193, 194 และ 195 รายละเอียดสินค้าคงเหลือแผ่นที่ 196 หมายเหตุประกอบงบดุลแผ่นที่ 197และ 198 แบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลแผ่นที่ 199 และ 201รายงานผู้สอบบัญชีแผ่นที่ 202 งบดุลแผ่นที่ 203, 204, 205 และ 206รายละเอียดสินค้าคงเหลือแผ่นที่ 207 รายละเอียดค่าเสื่อมราคาแผ่นที่ 208 หมายเหตุประกอบแผ่นที่ 209 และรายการแสดงรายได้รายจ่ายแผ่นที่ 210 และโจทก์ได้จัดส่งบัญชีและเอกสารพร้อมทั้งหลักฐานต่าง ๆ อีกทั้งมอบให้นายสมพงษ์ ยิ่งถาวรสุข และนายทศพร ทองจำรูญ ไปให้การต่อเจ้าพนักงานประเมิน 3 ครั้งและรับทราบผลของการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1 และ 2 เช่นนี้เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่ปรากฏพอฟังได้ว่าโจทก์มิได้หลีกเลี่ยงภาษีและให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานด้วยดีพอสมควรเพราะมิฉะนั้นแล้วเจ้าพนักงานประเมินคงจะไม่สามารถประเมินรายได้ดังกล่าวมาแล้วได้ แม้ว่าโจทก์จะไม่ได้มาหรือรับเอกสารของเจ้าพนักงานทุกครั้งก็อาจเป็นกรณีมีความจำเป็นหรือไม่ทราบก็อาจเป็นได้ จึงยังไม่พอฟังว่าโจทก์ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ และเห็นสมควรลดเบี้ยปรับให้โจทก์กึ่งหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดเบี้ยปรับกึ่งหนึ่งของจำนวนเบี้ยปรับทั้งหมดที่โจทก์จะต้องชำระตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง

Share