คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2386/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พนักงานของโจทก์ต่อสายไฟฟ้าขาเข้าและขาออกสลับกันเป็นเหตุให้มาตรวัดกระแสไฟฟ้าของจำเลยหมุนช้าไปกว่าปกติร้อยละ 65.5 แม้การต่อสายไฟฟ้าดังกล่าวจะเกิดจากการกระทำผิดพลาดของพนักงานโจทก์จำเลยมิได้มีส่วนผิดด้วยก็ตาม แต่จำเลยก็ได้ใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์เต็มจำนวน จำเลยจึงเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์อยู่ ต้องรับผิดชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้โจทก์เต็มจำนวน โจทก์ได้ติดตั้งมาตรวัดกระแสไฟฟ้าให้จำเลยเพื่อใช้วัดกระแสไฟฟ้าประกอบการคิดค่ากระแสไฟฟ้า แสดงว่าโจทก์คิดค่ากระแสไฟฟ้าตามหน่วยการใช้กระแสไฟฟ้าตามมาตราวัดกระแสไฟฟ้าและอัตรากระแสไฟฟ้าที่จำเลยสามารถตรวจสอบดูได้ มิใช่ว่าโจทก์จะคิดค่ากระแสไฟฟ้ามากน้อยเพียงใดก็ได้ตามความพอใจของโจทก์ข้อสัญญาที่ว่าจำเลยจะต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าตามจำนวนที่โจทก์เรียกเก็บภายในเวลาที่กำหนดนี้จึงมีความหมายเพียงว่า เมื่อโจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าแล้ว จำเลยต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้านั้นภายในกำหนดมิใช่ข้อสัญญาที่กำหนดให้โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าตามความพอใจไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปลายปี 2522 จำเลยทำสัญญาขอใช้กระแสไฟฟ้าจากโจทก์ โดยตกลงว่าจะยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่โจทก์กำหนด โจทก์ดำเนินการติดตั้งมาตรวัดกระแสไฟฟ้าขนาด 30 แอมป์ 3 เฟส 4 สายหมายเลข พีอีเอ. 2790492 ให้แก่จำเลยเพื่อใช้วัดกระแสไฟฟ้าณ บ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 2 ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี แล้วจ่ายกระแสไฟฟ้าให้จำเลยใช้ตลอดมาเมื่อปลายปี2524 จำเลยแจ้งให้พนักงานของโจทก์นำมาตรวัดกระแสไฟฟ้าไปตรวจสอบแต่ผลการตรวจสอบปรากฏว่ามาตรวัดหมุนเป็นปกติ พนักงานของโจทก์นำมาตรวัดกระแสไฟฟ้าไปติดตั้งให้จำเลยตามเดิม หลังจากนั้นจำนวนกระแสไฟฟ้าเริ่มลดลงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2524 จนกระทั่งเดือนกันยายน 2528 พนักงานของโจทก์จากสำนักงานใหญ่ตรวจพบว่ามีการต่อสายไฟฟ้าเข้ามาตรวัดกระแสไฟฟ้าของจำเลยเฟสที่ 3 ขาเจ้าและขาออกสลับกัน มีผลทำให้มาตรวัดกระแสไฟฟ้าหมุนช้าไปกว่าปกติร้อยละ 65.5 ทั้งนี้เกิดจากเมื่อพนักงานของโจทก์นำมาตรวัดกระแสไฟฟ้าไปติดตั้งคืนให้จำเลยในเดือนตุลาคม 2534 ได้ต่อสายไฟฟ้าเข้าออกมาตรวัดเฟสที่ 3 ผิดไป จำเลยเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการใช้กระแสไฟฟ้า โจทก์จึงต้องคิดค่ากระแสไฟฟ้าเพิ่มย้อนหลังตามความเป็นจริง นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2524 จนถึงวันที่ตรวจพบความบกพร่องรวมเป็นเงินจำนวน 111,363.05 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระค่ากระแสไฟฟ้าดังกล่าวแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 128,067.51 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์พอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจ กล่าวคือ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้รับประโยชน์จากการใช้กระแสไฟฟ้า เนื่องจากการต่อสายไฟฟ้าผิดของพนักงานของโจทก์จำเลยจึงต้องจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าแก่โจทก์ แต่โจทก์กลับเรียกค่ากระแสไฟฟ้าโดยอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาทำให้จำเลยไม่เข้าใจว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยในฐานใดฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การติดตั้ง ซ่อม แก้ไขมาตรวัดกระแสไฟฟ้าเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องทำให้ถูกต้อง จำเลยไม่มีโอกาสทราบถึงความผิดพลาดของโจทก์ จำเลยใช้กระแสไฟฟ้าโดยสุจริตตลอดมา หากความจริงเป็นตามข้ออ้างของโจทก์ กระแสไฟฟ้าที่จำเลยใช้ไปก็เป็นลาภมิควรได้โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์มีสิทธิเรียกคืน คดีโจทก์ขาดอายุความ การชำระค่ากระแสไฟฟ้าจะต้องชำระตามจำนวนกระแสไฟฟ้าที่ได้ใช้ไป ไม่ใช่ชำระตามที่โจทก์เรียกร้อง แต่ตามข้อสัญญาในฟ้องโจทก์ที่ว่า จำเลยจะต้องชำระเงินค่าตอบแทนในการใช้กระแสไฟฟ้าและค่าธรรมเนียมตามที่โจทก์เรียกร้องและภายในกำหนด เป็นข้อตกลงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นโมฆะ ใช้บังคับจำเลยไม่ได้และตามข้อสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความใดระบุว่า จำเลยจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่ความเสียหายเกิดจากความผิดของโจทก์ แต่ถ้าจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่ากระแสไฟฟ้าย้อนหลังให้แก่โจทก์ก็ต้องดูว่าความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากฝ่ายใดเป็นผู้ก่อมากน้อยกว่ากันในเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของพนักงานของโจทก์ความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องเฉลี่ยความรับผิดระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยจำเลยจะต้องรับผิดน้อยกว่าโจทก์ มิใช่ต้องรับผิดตามที่โจทก์เรียกร้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน 109,771.52 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่ากระแสไฟฟ้าเพิ่มย้อนหลังจากจำเลยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเป็นผู้ขอใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าตามจำนวนที่ใช้ไปเต็มจำนวนตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับโจทก์ตามคำร้องขอใช้กระแสไฟฟ้าเอกสารหมาย จ.2 เมื่อปรากฏว่ามีการต่อสายไฟฟ้าเข้ามาตรวัดกระแสไฟฟ้าของจำเลยเฟสที่ 3 ขาเข้าและขาออกสลับกัน เป็นเหตุให้มาตรวัดกระแสไฟฟ้าของจำเลยหมุนช้าไปกว่าปกติร้อยละ 65.5 แม้การต่อสายไฟฟ้าเข้ามาตรวัดกระแสไฟฟ้าสลับกันดังกล่าวจะเกิดจากการกระทำผิดพลาดของพนักงานโจทก์เอง จำเลยมิได้มีส่วนผิดด้วยก็ตาม แต่จำเลยก็ได้ใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์ไปเต็มจำนวน จำเลยจึงเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์อยู่ ต้องรับผิดชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้โจทก์เต็มจำนวนตามข้อตกลงในคำร้องขอใช้กระแสไฟฟ้า เมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยชำระค่ากระแสไฟฟ้าขาดจำนวนไป โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเพิ่มเติมย้อนหลังให้ครบถ้วนได้ อนึ่ง ปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ว่าข้อตกลงในการใช้กระแสไฟฟ้าที่ว่าจำเลยจะต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าตามจำนวนที่โจทก์เรียกเก็บภายในเวลาที่กำหนด เป็นข้อสัญญาที่กำหนดให้โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าได้ตามความพอใจของโจทก์ทำให้จำเลยและประชาชนผู้ใช้กระแสไฟฟ้าเสียเปรียบ จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ใช้บังคับไม่ได้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ให้ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาให้ในข้อนี้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ยื่นคำร้องขอใช้กระแสไฟฟ้าต่อโจทก์ในการนี้จำเลยยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขต่อโจทก์ โดยต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้กระแสไฟฟ้า ต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าตามจำนวนที่โจทก์เรียกเก็บ ภายในเวลาที่กำหนด สำหรับอัตราค่ากระแสไฟฟ้าและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้กระแสไฟฟ้าจำเลยสามารถตรวจดูได้ที่สำนักงานของโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามคำขอใช้ไฟฟ้า เอกสารหมาย จ.2 โจทก์ได้ติดตั้งมาตรวัดไฟฟ้าให้จำเลยเพื่อใช้วัดกระแสไฟฟ้าประกอบการคิดค่ากระแสไฟฟ้า แสดงว่าโจทก์คิดค่ากระแสไฟฟ้าตามหน่วยการใช้กระแสไฟฟ้าตามมาตรวัดกระแสไฟฟ้าและอัตราค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยสามารถตรวจสอบดูได้ดังกล่าวแล้ว มิใช่ว่าโจทก์จะคิดค่ากระแสไฟฟ้ามากน้อยเพียงใดก็ได้ตามความพอใจของโจทก์ ข้อสัญญาที่ว่าจำเลยจะต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าตามจำนวนที่โจทก์เรียกเก็บ ภายในเวลาที่กำหนดนี้จึงมีความหมายเพียงว่า เมื่อโจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าแล้ว จำเลยต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้านั้นภายในเวลาที่กำหนด มิใช่ข้อสัญญาที่กำหนดให้โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าตามความพอใจไม่ใช่ข้อสัญญาที่ทำให้ประชาชนเสียหาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงใช้บังคับได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share