คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2384/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มิได้บัญญัติถึงวิธีการหรือหลักเกณฑ์ในการขอแก้ไขคำให้การไว้ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยขึ้นใหม่แทนวันนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์แต่เดิม เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 39 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่จำต้องนำเรื่องการชี้สองสถานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 183 มาใช้บังคับ ถือได้ว่าคดีแรงงานไม่มีการชี้สองสถาน เมื่อคดีไม่มีการชี้สองสถานและมีการสืบพยานนัดแรก (พยานจำเลย) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 การยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยฉบับลงวันที่ 12 มีนาคม 2545 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 14,666.66 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 425,000 บาท
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 184,166.66 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อ 2 ของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังจากศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติถึงวิธีการหรือหลักเกณฑ์ในการขอแก้ไขคำให้การไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ซึ่งมาตรา 180 บัญญัติว่า “การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้วให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน…” ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีแล้ว ศาลแรงงานกลางได้นัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 28 มกราคม 2545 ในวันนัดดังกล่าวผู้รับมอบอำนาจจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความยังตกลงกันไม่ได้ จึงได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วมีคำสั่งให้จำเลยนำพยานเข้าสืบก่อนโดยนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 14 มีนาคม 2545 ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การตามคำร้องลงวันที่ 12 มีนาคม 2545 ในวันนัดสืบพยานจำเลยเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2545 โจทก์แถลงขอนำคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยไปปรึกษากับทนายความก่อนว่าจะโต้แย้งหรือไม่และขออนุญาตเลื่อนคดี ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 ซึ่งในวันนัดสืบพยานจำเลยดังกล่าว ศาลแรงงานกลางได้สืบพยานจำเลยได้ 1 ปาก และมีคำสั่งยกคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยโดยอ้างว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การล่วงพ้นกำหนดเวลาอันสมควรคือ ศาลได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไปแล้วจึงไม่อนุญาต เห็นว่า การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยขึ้นใหม่แทนวันนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์แต่เดิมเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2545 นั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องนำเรื่องการชี้สองสถานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 มาใช้บังคับ ถือได้ว่าคดีแรงงานไม่มีการชี้สองสถาน เมื่อคดีนี้ไม่มีการชี้สองสถานและเพิ่งจะมีการสืบพยานนัดแรก (พยานจำเลย) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 การยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยฉบับลงวันที่ 12 มีนาคม 2545 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การล่วงพ้นกำหนดเวลาอันสมควรนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น และการอนุญาตให้แก้ไขคำให้การของจำเลยดังกล่าวอาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงยังไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การตามคำร้องฉบับลงวันที่ 12 มีนาคม 2545 และให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share