คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2381/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

รายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติที่จำเลยมิได้คัดค้านว่ารายงานนั้นไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไรแม้โจทก์ร่วมเป็นฝ่ายอุทธรณ์ขอให้ลงโทษหนักขึ้นโดยไม่ได้กล่าวถึง รายงานดังกล่าวในอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจหยิบยก รายงานดังกล่าวซึ่งเข้าสู่สำนวนอย่างถูกต้องแล้วมาประกอบ การใช้ดุลพินิจพิพากษาคดีลงโทษจำเลยได้ โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายและได้เข้าเป็นคู่ความในคดีนี้แล้ว คดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 10 ปี เมื่อมิใช่เป็นคดีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษา ของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ดังนี้ หากโจทก์ร่วมยังไม่พอใจคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมย่อม มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้ไม่มีบทกฎหมายให้สิทธิอุทธรณ์ เฉพาะพนักงานอัยการโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางสาวศิริวรรณ วุฒิศักดิ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี แต่ให้คุมความประพฤติโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้งภายในกำหนดเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานหนักและไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษจำคุกไม่ปรับ และไม่คุมความประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 นำรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติมาประกอบการพิพากษาคดีเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยมิได้คัดค้านว่ารายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร ดังนั้น แม้โจทก์ร่วมไม่ได้กล่าวถึงรายงานดังกล่าวในอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มีอำนาจหยิบยกรายงานดังกล่าวซึ่งเข้าสู่สำนวนอย่างถูกต้องแล้วมาประกอบการใช้ดุลพินิจพิพากษาคดีลงโทษจำเลยได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อพนักงานอัยการไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์โจทก์ร่วมมีสิทธิยื่นอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายและได้เข้าเป็นคู่ความในคดีนี้แล้ว คดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี เมื่อโจทก์ร่วมยังไม่พอใจคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ไม่มีบทกฎหมายให้สิทธิเฉพาะพนักงานอัยการโจทก์ตามที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด”
พิพากษายืน

Share