แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้โจทก์นำเอกสารที่เป็นความลับของธนาคารจำเลยที่ไม่ต้องการใช้และไม่มีประโยชน์ไปเผาทำลาย แต่โจทก์กลับนำเอกสารบางส่วนไปขายโดยไม่นำไปเผา และเอาเงินที่ขายได้เป็นของตนเอง จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยที่สิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
โจทก์กระทำความผิดซึ่งจะต้องถูกลงโทษไล่ออก และครั้งแรกจำเลยก็ได้ลงโทษโจทก์ด้วยการไล่ออกแล้ว แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ต่อผู้จัดการของจำเลย ผู้จัดการได้พิจารณาลดโทษให้โจทก์ เป็นให้ลดโทษด้วยการให้ออก การลดโทษดังกล่าวหาได้หมายความว่าจำเลยเห็นว่าการกระทำของโจทก์ไม่เป็นการกระทำผิดข้อบังคับของจำเลยไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๐ จำเลยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาทำลายเอกสารที่ไม่ต้องการใช้และไม่มีประโยชน์แก่จำเลย เมื่อกรรมการพิจารณาแล้วได้ขอร้องให้โจทก์ช่วยนำไปเผาทิ้ง โจทก์ได้นำเอกสารดังกล่าวไปเผาครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือได้นำไปขายได้เงิน ๑,๑๐๑ บาท วันรุ่งขึ้นคณะกรรมการทักท้วงว่าโจทก์ทำไม่ถูกต้อง โจทก์จึงนำเงินไปคืนแก่ผู้ซื้อและนำกระดาษที่ขายไปส่งคืนสาขาทั้งหมด ต่อมาจำเลยได้มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๐ โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งตามระเบียบ จำเลยจึงเปลี่ยนคำสั่งเป็นให้โจทก์ออกจากงานโดยหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงคือทุจริตต่อหน้าที่ ทั้งที่การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และไม่ถึงกับผิดวินัย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าปฏิบัติงานตามเดิม หรือมิฉะนั้นให้ใช้ค่าเสียหายและให้จ่ายเงินบำเหน็จ ให้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า นางจรวยพร ชูความดี ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้สั่งให้โจทก์นำกระดาษเอกสารต่าง ๆ ซึ่งเป็นเอกสารที่เป็นความลับของธนาคารจำเลยไปทำลายโดยวิธีเผา แต่โจทก์เอาเอกสารบางส่วนไปขายแล้วเอาเงินที่ขายได้เป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้จัดการ ผู้จัดการของจำเลยมีคำสั่งลดโทษเป็นให้ออก แต่การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินบำเหน็จแก่โจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปัญหาที่ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่นั้น โจทก์อุทธรณ์ว่ากระดาษที่จำเลยให้โจทก์นำไปเผานั้นไม่มีประโยชน์ต่อจำเลยอีกต่อไปแล้ว การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าในชั้นพิจารณาโจทก์แถลงยอมรับข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลย คดีจึงต้องฟังตามคำให้การของจำเลยว่ากระดาษที่จำเลยให้โจทก์นำไปเผาเป็นเอกสารที่เป็นความลับของธนาคารจำเลย และเมื่อโจทก์นำเอกสารบางส่วนไปขาย โจทก์ได้เอาเงินที่ขายได้เป็นของตนเอง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ที่มิควรได้โดยขอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว การที่โจทก์ไปซื้อเอกสารดังกล่าวคืนมาแล้วนำมาคืนให้จำเลยนั้น หาทำให้การกระทำผิดของโจทก์ซึ่งสำเร็จบริบูรณ์แล้วกลายเป็นไม่เป็นความผิดไม่ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์เกี่ยวกับเรื่องเงินบำเหน็จ ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายที่ว่า การที่จำเลยลงโทษโจทก์ด้วยการให้ออกต้องพิจารณาตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ ๙ ว่าด้วยวินัยการสอบสวน และการลงโทษ สำหรับพนักงานและลูกจ้างข้อ ๖ (๒) คือต้องเป็นเรื่องจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายตามนัยแห่งประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ แต่เอกสารที่โจทก์นำไปขายไม่มีประโยชน์แก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใดนั้น เห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ ๙ ข้อ ๕ ซึ่งกำหนดว่า การลงโทษไล่ออกนั้นให้กระทำในกรณีที่พนักงานหรือลูกจ้างกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังระบุไว้ต่อไปนี้ (๔) ทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งโจทก์จะต้องได้รับโทษไล่ออก และครั้งแรกจำเลยก็ได้ลงโทษโจทก์ด้วยการไล่ออกแล้ว แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ต่อผู้จัดการของจำเลย ผู้จัดการเห็นว่าโจทก์ให้ถ้อยคำรับสารภาพต่อคณะกรรมการสอบสวน จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติธนาคารจำเลยและข้อ ๑๔ วรรค ๓ แห่งข้อบังคับ ฉบับที่ ๙ ของธนาคารจำเลย ลดโทษให้โจทก์เป็นให้ลงโทษด้วยการให้ออก การลดโทษดังกล่าวหาได้หมายความว่าจำเลยเห็นว่าการกระทำของโจทก์ไม่เป็นการกระทำผิดข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวมาแล้วแต่ประการใดไม่ แท้จริงแล้วจำเลยก็ยังคงถือว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่อยู่นั่นเอง เพียงแต่ปราณีลดโทษให้โจทก์เป็นการให้ออกจากงานแทนการไล่ออกเท่านั้น ซึ่งแม้โจทก์เพียงแต่ได้รับโทษให้ออกจากงาน กรณีของโจทก์ก็ต้องด้วยข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยเงินบำเหน็จ ข้อ ๙ ซึ่งกำหนดว่าในกรณีต่อไปนี้ ผู้ปฏิบัติงานไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จ (๒) ผู้ปฏิบัติงานถูกลงโทษไล่ออก หรือให้ออกตามข้อ ๕ หรือ ๖ แห่งข้อบังคับฉบับที่ ๙ โจทก์จึงไม่ม่สิทธิได้รับเงินบำเหน็จ และการที่โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่จนถูกจำเลยให้ออกจากงานนั้น การกระทำของโจทก์ย่อมต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๑) และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่อุทธรณ์ขึ้นมา ส่วนค่าเสียหายนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย
พิพากษายืน