คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2376/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์ให้แก่ผู้ร้องที่ 1ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึง 3 ปีเศษ โดยผู้ร้องได้รับมอบเครื่องรับโทรศัพท์ไว้ในความครอบครองตั้งแต่วันที่โอนสิทธิกัน ดังนั้นการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์รายนี้ย่อมมีผลสมบูรณ์ แม้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมีเงื่อนไขว่าการโอนจะต้องได้รับความยินยอมจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเสียก่อน เมื่อยังไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ก็ไม่ทำให้นิติกรรมการโอนเสียไปเพราะเงื่อนไขดังกล่าวไม่ใช่แบบของนิติกรรม สิทธิการเช่าโทรศัพท์ดังกล่าวจึงไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีสิทธินำยึด.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 42,317.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสิทธิการเช่าโทรศัพท์หมายเลข 4675914 เพื่อนำมาขายทอดตลาด โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของสิทธิการเช่าโทรศัพท์หมายเลข 4675914 ซึ่งได้รับโอนสิทธิการเช่ามาจากจำเลยที่ 1 โดยผู้ร้องครอบครองโทรศัพท์ดังกล่าวมาโดยสุจริต
โจทก์คัดค้านว่า สิทธิการเช่าโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 โอนสิทธิการเช่าภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งยึดทรัพย์แล้ว จึงไม่อาจใช้ยันแก่โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ เว้นแต่คู่กรณีจะตกลงเป็นอย่างอื่นโดยเฉพาะตามเงื่อนไขการเช่าระบุว่า จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิการเช่าแก่บุคคลอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…คดีนี้เป็นคดีซึ่งมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินสองหมื่นบาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา238 และ 247 ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีชื่อในสิทธิการเช่าโทรศัพท์หมายเลข 4675914 ที่โจทก์นำยึด เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2522 จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์ดังกล่าวให้ผู้ร้องที่ 1 โดยผู้ร้องที่ 1 เสียค่าตอบแทนเป็นเงิน 20,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 1 รับโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์ให้แล้วจำเลยที่ 1 ได้ย้ายโทรศัพท์เข้าไปติดตั้งในบ้านของผู้ร้องทั้งสองตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2523 โดยองค์การโทรศัพท์ได้อนุมัติให้ย้ายได้ตามใบรับมอบเครื่องโทรศัพท์เอกสารหมาย ร.3 จำเลยที่ 1 ได้มอบฉันทะให้ผู้ร้องที่ 1ไปดำเนินการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แต่ผู้ร้องที่ 1 ไม่ได้ไปโอนคงใช้โทรศัพท์ตลอดมาจนเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2527 ผู้ร้องที่ 1 ได้ไปขอรับโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์ดังกล่าวจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยภายหลังที่ศาลชั้นต้นได้แจ้งคำสั่งยึดสิทธิการเช่าไปยังองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2527
โจทก์ฎีกาว่า การโอนสิทธิการเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องซึ่งได้ทำกันเองไม่อาจนำมาใช้ยันกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยผู้ให้เช่าได้ และถือไม่ได้ว่าสิทธิการเช่านั้นตกไปเป็นของผู้รับโอนจากผู้เช่าแล้วตั้งแต่ทำสัญญาโอนสิทธิกันเพราะองค์การโทรศัพท์ผู้ให้เช่ายังไม่ยินยอมหรือรับรองการโอนนั้น และการที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้โอนสิทธิการเช่าให้แก่ผู้ร้องที่ 1 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2527 ภายหลังที่ได้รับแจ้งคำสั่งยึดสิทธิการเช่าเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2527 แล้วจึงไม่อาจใช้ยันต่อโจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 305 (1) และมาตรา 314 (1)ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์รายนี้ จำเลยที่ 1 ได้โอนให้แก่ผู้ร้องที่ 1 โดยผู้ร้องที่ 1ได้เสียค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึง 3 ปีเศษ และผู้ร้องที่ 1 ได้รับมอบเครื่องโทรศัพท์ไว้ในครอบครองแล้วตั้งแต่วันที่โอนสิทธิกันดังนั้นการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์รายนี้ย่อมมีผลสมบูรณ์แม้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมีเงื่อนไขว่าการโอนจะต้องได้รับความยินยอมจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเสียก่อน เมื่อยังไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ก็ไม่ทำให้นิติกรรมการโอนเสียไปเพราะเงื่อนไขดังกล่าวไม่ใช่แบบของนิติกรรม เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์ดังกล่าวให้ผู้ร้องที่ 1 แล้วตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2522 ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยึดโทรศัพท์รายนี้ การที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ดำเนินการให้มีการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์ดังกล่าวระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ก็เพียงแต่เป็นผู้อนุมัติให้มีการโอนกันและเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมเท่านั้นจึงไม่อาจนำหลักกฎหมายที่โจทก์กล่าวอ้างมาปรับแก่คดีนี้ได้ สิทธิการเช่าโทรศัพท์ดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีสิทธินำยึด ศาลล่างทั้งสองให้ปล่อยการยึดทรัพย์รายนี้ต้องกันมาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share