คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 237/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมที่ดินโฉนดเลขที่610เป็นของบิดาจำเลยที่1เคยให้โจทก์ทั้งสองเช่าบางส่วนเมื่อบิดาจำเลยที่1ถึงแก่ความตายจำเลยที่1ได้รับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วนำไปแบ่งขายให้แก่โจทก์ทั้งสองขณะที่เช่าที่ดินกับบิดาจำเลยที่1บิดาจำเลยที่1อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองเดินผ่านที่ดินพิพาทหลังจากนั้นจำเลยที่1ก็ได้ให้โจทก์ทั้งสองเดินผ่านที่ดินพิพาทดังกล่าวการที่โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิเดินผ่านที่ดินพิพาทจึงเป็นการได้รับอนุญาตให้มีสิทธิเดินผ่านจากบิดาจำเลยที่1และตัวจำเลยที่1นั่นเองโจทก์ทั้งสองมิได้เดินในที่พิพาทโดยอาศัยอำนาจแห่งตนและขณะนั้นที่ดินดังกล่าวยังเป็นที่ดินแปลงเดียวกันอยู่กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องการมีสิทธิเหนือที่ดินแปลงหนึ่งประโยชน์ของที่ดินอีกแปลงหนึ่งเมื่อปรากฎว่าโจทก์ที่1เพิ่งจะซื้อที่่ดินจากจำเลยที่1เมื่อวันที่16กุมภาพันธ์2524โจทก์ที่2ซื้อที่ดินจากจำเลยที่1เมื่อวันที่22กุมภาพันธ์2527นับถึงวันฟ้องวันที่31มกราคม2534ยังไม่ครบ10ปีถึงแม้หากโจทก์ทั้งสองจะใช้สิทธิโดยอำนาจแห่งตนโดยพลการเดินผ่านที่ดินพิพาทของจำเลยที่1ตั้งแต่ซื้อที่ดินจากจำเลยที่1ก็หาอาจได้สิทธิภารจำยอมในทางเดินในที่ดินพิพาทดังกล่าวไม่ ที่โจทก์ที่2อ้างว่าในการซื้อที่ดินจากจำเลยที่1จำเลยที่1เคยทำสัญญาไว้ว่าเมื่อซื้อที่ดินแล้วจะเปิดทางให้ทำถนนนั้นก็ปรากฎว่าสัญญาดังกล่าวกระทำกันระหว่างจำเลยที่1กับส.มิได้กระทำกับโจทก์ที่2ซึ่งโจทก์ที่2เองก็เบิกความว่าขณะทำสัญญาดังกล่าวโจทก์ที่2ได้หย่าขาดกับส.แล้วและมิได้มีการจดทะเบียนให้ทางเดินในที่ดินพิพาทเป็นทางเดินภารจำยอมไว้ทั้งสัญญาซื้อขายดังกล่าวก็เป็นบุคคลสิทธิบังคับได้ระหว่างจำเลยที่1กับส. ไม่มีเหตุที่โจทก์ที่2จะนำสัญญาดังกล่าวมาบังคับให้จำเลยที่1ต้องปฏิบัติตามเพื่อประโยชน์ของโจทก์ที่2ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาได้ ขณะที่โจทก์ที่2สร้างถนนคอนกรีตบางส่วนบนที่ดินพิพาทนั้นจำเลยที่1อนุญาตให้โจทก์ที่2ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเดินอยู่การสร้างถนนคอนกรีตของโจทก์ที่2จึงเป็นการสร้างโดยได้รับอนุญาตเมื่อจำเลยที่2ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไม่อนุญาตให้โจทก์ที่2ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเดินต่อไปอีกโจทก์ที่2จึงต้องรื้อถนนคอนกรีตส่วนนี้ออกเมื่อโจทก์ที่2ไม่ยินยอมรื้อจำเลยที่2จึงชอบที่จะฟ้องแย้งบังคับโจทก์ที่2ให้รื้อถนนคอนกรีตดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินโฉนดเลขที่ 3570 ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินโฉนดเลขที่ 3479 ตำบลเขาน้อยอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดิมจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3571 ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาจำเลยที่ 1 แสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับจำเลยที่ 2 โดยโอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายเนื่องจากที่ดินโจทก์ทั้งสองอยู่ติดกับที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 ใช้รถยนต์เข้าออกผ่านที่ดินพิพาทสู่ถนนสาธารณประโยชน์กว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 5 เมตร ติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีจึงเป็นทางภารจำยอมและจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือกับสามีโจทก์ที่ 2 ว่ายอมเปิดทางให้ทำถนนรถยนต์เข้าออกในที่ดินพิพาทได้ซึ่งโจทก์ที่ 2 ก็ได้ทำถนนกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 8 เมตรใช้ติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 8 ปี เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2534จำเลยที่ 2 ได้ทำรั้วปิดกั้นทางภารจำยอม ทำให้โจทก์ทั้งสองไม่สามารถใช้รถยนต์เข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3571 ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรีจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 2รื้อถอนรั้วที่ปิดกั้นทางภารจำยอม หากจำเลยที่ 2 ไม่ยอมรื้อให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้รื้อโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง คำฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุม เดิมที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้โจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2524 และจดทะเบียนโอนขายให้โจทก์ที่ 2 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2527 โจทก์ทั้งสองไม่เคยใช้ทางผ่านที่ดินพิพาท แต่ใช้ทางหน้าบ้านของโจทก์ทั้งสองออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ หากโจทก์ทั้งสองใช้ทางในที่ดินพิพาทก็ยังไม่ถึง 10 ปี ขณะจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้โจทก์ที่ 2ก็ไม่มีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ที่ 2 ใช้ทางในที่ดินพิพาทจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3571 ตำบลเขาน้อย อำเภอปรานบุรีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนการได้มาโดยสุจริตโจทก์ทั้งสองบุกรุกที่ดินพิพาท โดยโจทก์ที่ 1 นำสัมภาระและอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบกิจการตลอดจนเศษวัสดุต่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์มาไว้ในที่ดินพิพาทจำเลยที่ 2 ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โจทก์ที่ 1 จึงขนย้ายไปส่วนโจทก์ที่ 2 เทพื้นปูนคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทเป็นเนื้อที่ 8 ตารางเมตร เป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2ได้รับความเสียหาย และการที่โจทก์ทั้งสองขอคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉินก่อนมีคำพิพากษาเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 2ทำรั้วในที่ดินพิพาทเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 1,100 บาทกับค่าเสียหายวันละ 100 บาท และให้โจทก์ที่ 2 ชำระค่าเสียหายจำนวน1,650 บาท กับค่าเสียหายวันที่ 150 บาท นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 2 ทำรั้วเป็นต้นไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ให้โจทก์ที่ 2 รื้อพื้นปูนคอนกรีตออกไปจากที่ดินพิพาทเป็นเนื้อที่ 8 ตารางเมตร เป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 2ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหาย และการที่โจทก์ทั้งสองขอคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉินก่อนมีคำพิพากษาเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามจำเลยที่่่ 2 ทำรั้วในที่ดินพิพาทเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 จำนวน1,100 บาท กับค่าเสียหายวันละ 100 บาท และให้โจทก์ที่ 2ชำระค่าเสียหายจำนวน 1,650 บาท กับค่าเสียหายวันละ 150 บาท นับแต่วันที่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 2 ทำรั้วเป็นต้นไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ให้โจทก์ที่ 2 รื้อพื้นปูนคอนกรีตออกไปจากที่ดินพิพาท หากโจทก์ที่ 2 ไม่รื้อ ให้จำเลยที่ 2เป็นผู้รื้อแทน โดยโจทก์ที่ 2 เป็นผู้รื้อแทน โดยโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
โจทก์ทั้งสองให้กาแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิที่จะนำสัมภาระ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ตลอดจนวัสดุในการประกอบกิจการไว้ในบริเวณทีดินพิพาท เพราะโจทก์ที่ 1 มีสิทธิในทางภารจำยอมโจทก์ที่ 2 มีสิทธิเทพื้นปูนคอนกรีตลงบททางในที่ดินพิพาท เพราะเป็นทางภารจำยอมไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 2 ใช้ทางในที่ดินพิพาทเข้าออกติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 2 ทำรั้วในที่ดินพิพาทไม่ทำให้จำเลยที่ 2เสียหาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ห้ามโจทก์ทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดเลขที่ 3571 ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้โจทก์ที่ 2 รื้อพื้นปูนคอนกรีตออกและทำให้อยู่สภาพเดิมหากไม่ทำให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ คำขออื่นตามฟ้องแย้งให้ยก
โจทก์ ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องแรกโดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3570ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามโฉนดเอกสารหมาย ล.2 โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3479ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามเอกสารหมายจ.10 เดิมจำเลยที่ 10 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3571 ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามเอกสารหมายจ.2 ต่อมาได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสารบัญจดทะเบียนด้วนหลังโฉนดเอาสารหมาย จ.2 ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวได้แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 610 ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามโฉนดเอกสารหมาย จ. 10 ที่ดินของโจทก์ทั้งสองอยู่ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 2 ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้คดีมีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ทางเดินจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองผ่านที่ดินของจำเลยที่ 32 ไปสู่ทางสาธารณะเป็นทางภารจำยอมหรือไม่ เห็นว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 610 เป็นของบิดาจำเลยที่ 1 เคยให้โจทก์ทั้งสองเช่าบางส่วนเมื่อบิดาจำเลยที่ 1ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ได้รับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วนำไปแบ่งขายให้แก่โจทก์ทั้งสอง ซึ่งโจทก์ทั้งสอง นายคำรณ คิญชกรัฒน์ และนายสุชาติ รุ่งเรืองทิพย์ สามีจำเลยที่ 2 ต่างก็เบิกความสอดคล้องตรงกันว่า ขณะที่เช่าที่ดินกับบิดาจำเลยที่ 1 บิดาจำเลยที่ 1 อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองเดินผ่านที่ดินพิพาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ได้ให้โจทก์ทั้งสองเดินผ่านที่ดินพิพาทดังกล่าว การที่โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิเดินผ่านที่ดินพิพาท จึงเป็นการได้รับอนุญาตให้มีสิทธิเดินผ่านจากบิดาจำเลยที่ 1 และตัวจำเลยที่ 1 นั่นเองโจทก์ทั้งสองมิได้เดินในที่พิพาทโดยอาศัยอำนาจแห่งตน และขณะนั้นที่ดินดังกล่าวยังเป็นที่ดินแปลงเดียวกันอยู่ กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องการมีสิทธิเหนือที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อประโยชน์ของที่ดินอีกแปลงหนึ่ง เมื่อปรากฎว่าโจทก์ที่ 1 เพิ่งจะซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 16กุมภาพันธ์ 2524 โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่22 กุมภาพันธ์ 2527 นับถึงวันฟ้องวันที่ 31 มกราคม 2534 ยังไม่ครบ10 ปี ถึงแม้หากโจทก์ทั้งสองจะใช้สิทธิโดยอำนาจแห่งตนโดยพลการเดินผ่านที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 ก็หาได้สิทธิภารจำยอมในทางเดินในที่ดินพิพาทดังกล่าวไม่ที่โจทก์ที่ 2 อ้างว่าในการซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1เคยทำสัญญาไว้ตามเอกสารหมาย จ.5 ว่า เมื่อซื้อที่ดินแล้วจะเปิดทางให้ทำถนนนั้น ก็ปรากฎว่าสัญญาดังกล่าวกระทำกันระหว่างจำเลยที่ 1กับนายสุชาติมิได้กระทำกับโจทก์ที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 2 เองก็เบิกความว่าขณะทำสัญญาดังกล่าวโจทก์ที่ 2 ได้หย่ากันกับนายสุชาติแล้ว และมิได้มีการจดทะเบียนให้ทางเดินในที่ดินพิพาทเป็นทางเดินภารจำยอมไว้ ทั้งสัญญาซื้อขายดังกล่าวก็เป็นบุคคลสิทธิ บังคับได้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายสุชาติ ไม่มีเหตุที่โจทก์ที่ 2จะนำสัญญาดังกล่าวมาบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามเพื่อประโยชน์ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญา ข้ออ้างของโจทก์ที่ 2 จึงมิอาจรับฟังได้ และเมื่อจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2533 แล้ว สิทธิในทางเดินที่โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ใช้อยู่แต่ก่อนนั้น หากต่อมาจำเลยที่ 2 ไม่ยินยอมอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองใช้ทางเดินในที่ดินพิพาทต่อไป โจทก์ทั้งสองก็ไม่มีสิทธิใช้ทางเดินในที่ดินพิพาทต่อไป โจทก์ทั้งสองก็ไม่มีสิทธิใช้ทางเดินดังกล่าวอีก ส่วนเรื่องที่โจทก์ที่ 2 สร้างถนนคอนกรีตบางส่วนบนที่ดินพิพาทในขณะที่ยังเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 อยู่นั้น เห็นว่า ขณะนั้นจำเลยที่ 1 อนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเดินอยู่ การสร้างถนนคอนกรีตของโจทก์ที่ 2 จึงเป็นการสร้างโดยได้รับอนุญาต เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไม่อนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเดินต่อไปอีก โจทก์ที่ 2 จึงต้องรื้อถนนคอนกรีตส่วนนี้ออกเมื่อโจทก์ที่ 2 ไม่ยินยอมรื้อจำเลยที่ 2 จึงชอบที่จะฟ้องแย้งบังคับโจทก์ที่ 2 ให้รื้อถอนคอนกรีตดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองและให้โจทก์ที่ 2 รื้อถนนคอนกรีตออกชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share