แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ แต่ให้ยกฟ้องโจทก์เพราะเหตุอื่น โจทก์แต่ฝ่ายเดียวอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า “ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในตอนต้น ว่า คดีไม่ขาดอายุความแล้ววินิจฉัยต่อมาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิ์ขอแบ่งที่พิพาทเพราะล่วงเลยอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เป็นการขัดกันเองและขัดเหตุผล” เมื่อจำเลยได้ยื่นคำแก้ อุทธรณ์ในปัญหานี้แล้วปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จึงเป็นประเด็นโดยตรงที่ศาลอุทธรณ์จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัย โจทก์จะอ้างว่าศาลอุทธรณ์หยิบยกเอาปัญหาเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความขึ้นวินิจฉัยทั้ง ๆ ที่จำเลยมิได้อุทธรณ์เป็นการมิชอบนั้นไม่ได้ ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่โจทก์และมารดาจำเลยร่วมกันรับมรดกและร่วมกันครอบครอง ต่อมาโจทก์สมรสแล้วย้ายไปอยู่กับสามีโดยมีมารดาจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ การที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทต่อมาจึงอยู่ในฐานะเดียวกับมารดาของตน คือครอบครองแทนโจทก์เช่นกัน เมื่อโจทก์ยังมิได้สละสิทธิรับมรดก โจทก์จึงยังมีสิทธิในที่พิพาทอันเป็นมรดกรายนี้ การที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งแยกที่พิพาทจากจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิเจ้าของร่วมขอแบ่งทรัพย์พิพาท หาใช่การฟ้องคดีมรดกไม่ ดังนั้น จึงจะนำอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754มาใช้บังคับไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นางหลงมาและทายาทอื่นอีก 3 คน เป็นบุตรของนายอัม นางเพ็ง นายอัมตายก่อนนางเพ็ง เมื่อนางเพ็งตายมีมรดกคือ ที่ดินปลูกบ้าน 1 แปลง ยังไม่ได้แบ่งปันระหว่างทายาท แต่โจทก์นางหลงมาครอบครองร่วมกันแทนทายาทอื่นตลอดมา เมื่อประมาณ 18ปีก่อนฟ้องนางหลงมาตายจำเลยซึ่งเป็นบุตรของนางหลงมาได้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวร่วมกับโจทก์ โดยยังไม่แบ่งกันเป็นสัดส่วนต่อมาโจทก์ให้นางทอง มงคล บุตรโจทก์ปลูกบ้านในที่ดินดังกล่าวจำเลยค้านว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของตนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1639 ซึ่งออกเป็นชื่อของจำเลยแต่ผู้เดียวขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวโจทก์มีสิทธิครอบครองร่วมกับจำเลย ให้จำเลยดำเนินการเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยในหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้น มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การว่า ที่ดินแปลงพิพาทเป็นของดจำเลยแต่ผู้เดียวได้รับโอนมาทางมรดกมีหลักฐานตาม ส.ค. 1 แล้วครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาร่วม 30 ปีแล้ว และได้นำไปขึ้นทะเบียนเป็น น.ส.3 ก. โจทก์เพิ่งมาอาศัยปลูกบ้านในที่พิพาทเมื่อเดือนเมษายน 2524 คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว และโจทก์เป็นผู้อาศัยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของจำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ตาย นางทอง มงคล บุตรของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ แต่จำเลยเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความและจำเลยเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับปัญหาแรกที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์หยิบยกเอาปัญหาเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความขึ้นวินิจฉัย ทั้ง ๆที่จำเลยมิได้อุทธรณ์เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา เพราะเป็นฝ่ายชนะในผลแห่งคดี แต่โจทก์เองก้ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในประเด็นดังกล่าวว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยในตอนต้นว่าคดีไม่ขาดอายุความ แล้ววินิจฉัยต่อมาอีกว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งที่พิพาทเพราะล่วงเลยอายุความ 1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เป็นการขัดกันเองและขัดต่อเหตุผล ทั้งจำเลยก็ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ด้วยจึงเป็นประเด็นโดยตรงที่ศาลอุทธรณ์ต้องหยิงยกขึ้นวินิจฉัย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น พิเคราะห์จากคำฟ้องและคำให้การแล้ว เห็นว่าคำว่าอายุความในที่นี้หมายถึงอายุความฟ้องคดีมรดกซึ่งจะต้องฟ้องเสียภายในหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เว้นแต่จะได้ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกันตลอดมาตามมาตรา 1748รูปคดีจึงต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงในเรื่องการครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์ซึ่งเกี่ยวพันถึงปัญหาข้อหลังที่ว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทด้วย จึงสมควรวินิจฉัยปัญหาทั้งสองนี้ไปในคราวเดียวกัน หลังจากนางเพ็งเจ้ามรดกตาย โจทก์และมารดาจำเลยผู้เป็นทายาทได้ร่วมกันครอบครองที่พิพาทอันเป็นมรดกระยะหนึ่งแล้วฉะนั้น แม้โจทก์จะออกจากที่พิาทไปนานเท่าใด ก็ถือว่ามารดาจำเลยที่ยังอยู่ครอบครองแทนโจทก์ การที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทต่อมาจึงอยู่ในฐานะเดียวกับมารดาของตนคือครอบครองแทนโจทก์เช่นกันโจทก์จึงยังมีสิทธิในที่พิพาทอันเป็นมรดกรายนี้ ปัญหาต่อไปมีว่าโจทก์ได้สละสิทธิรับมรดกในที่พิพาทแล้วหรือไม่ จำเลยนำสืบตนเองนางลาน น้อยชิน และนายแสน จันกง เป็นทำนองว่าโจทก์กลับมาปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่พิพาทได้โดยขออนุญาตจากจำเลยจะเห็นว่าพยานดังกล่าวเป็นเครือญาติสนิทอยู่บ้านเดียวกันทั้งสิ้น ทั้งยังปรากฏจากที่จำเลยตอบคำถามค้านด้วยว่าโจทก์ปลูกยุ้ง 2 หลังพร้อมบ้าน จำเลยให้โจทก์รื้อก็ไม่รื้อไล่ก็ไม่ยอมไป โจทก์กลับอ้างว่าที่ดินเป็นของเขาอีกด้วย แสดงว่าโจทก์ยังไม่ได้สละสิทธิรับมรดกในที่พิพาทเลย จึงคัดค้านในทันทีที่ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิตรงข้ามกับจำเลยที่หาได้แสดงหลักฐานได้สิทธิเท่าที่จะพึงมีต่อโจทก์เสียในคราวนี้ไม่ กลับปล่อยให้ล่วงมาอีกไม่น้อยกว่า 2 ปี จึงได้อ้างกับโจทก์ตอนที่โจทก์จะต่อเติมบ้านว่าตนออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่พิพาทเป็นของตนแล้วซึ่งไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะขออนุญาตจำเลยปลุกบ้านอาศัยในที่พิพาทดังจำเลยอ้าง รูปคดีฟังได้ว่าโจทก์จำเลยผู้มีสิทธิได้รับมรดกคือที่พิพาทได้ครอบครองที่พิพาทร่วมกันมา ถือได้ว่าได้ร่วมกันรับมรดกดังกล่าวและเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกดังกล่าวนั้นแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ซึ่งตนเป็นเจ้าของร่วมได้จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 มาใช้บังคับหาได้ไม่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความและจำเลยเป็นผู้มีสิทธิในที่พิพาท และพิพากษายืนนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ เป็นว่าโจทก์กับจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1639 ตำบลบ้านค้อ อำเภอคำชะอีจังหวัดมุกดาหาร ให้จำเลยดำเนินการให้เจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวมิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย”.