คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2360/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายแล้วใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายทันทีเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องในคราวเดียวกันและจำเลยมีเจตนาเข้าไปเพื่อจะกระทำร้ายผู้เสียหาย ดังนี้จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 295, 364,365 (1) (3) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90, 295, 364, 365 (1) (3) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 365 ซึ่งเป็นบทหนักให้วางโทษ จำคุก 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลย 3 เดือนและปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด 2 ปี ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเคหสถานของผู้เสียหายฐานหนึ่ง และกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอีกฐานหนึ่ง เพื่อแสดงว่าจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และจำเลยได้ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาตามฟ้องฟังได้ว่า เมื่อจำเลยเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายแล้วก็ใช้กำลังกระทำร้ายผู้เสียหายทันที จึงแสดงให้เห็นว่า เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องในคราวเดียวกัน และเห็นเจตนาของจำเลยได้ว่า จำเลยมีเจตนาเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายเพื่อประสงค์ต่อผลโดยตรงในการที่จะกระทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share