แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อความในสัญญาฉบับเดียวกันขัดแย้งกันเอง ไม่อาจฟังเป็นยุติไปในทางใดได้กรณีจึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีต้องนำสืบให้เห็นว่าแท้จริงแล้วได้ตกลงกันไว้อย่างไร ไม่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การจำเลยรับว่า ได้ทำสัญญาซื้อขายกันจึงไม่ใช่กรณีที่จะต้องใช้สัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานแม้สัญญาซื้อขายดังกล่าวจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็ถือว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาซื้ออ้อยจากโจทก์จำนวน 50 ไร่เป็นเงิน 250,000 บาท กำหนดชำระเงินค่าอ้อยปีละครั้งรวม 3 ครั้งหลังจากจำเลยตัดอ้อยส่งโรงงานแล้วได้ชำระเงินค่าอ้อยให้โจทก์ตามสัญญา 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 จำเลยตัดอ้อยส่งโรงงานเมื่อเดือนมีนาคม2527 แต่จำเลยไม่ชำระเงินที่เหลืออีก 150,000 บาทให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยชำระเงินค่าอ้อยตามสัญญาจำนวน250,000 บาท ให้โจทก์แล้วตั้งแต่วันทำสัญญา จึงไม่มีหนี้ต้องชำระให้โจทก์อีก โจทก์ฟ้องเรียกค่าอ้อยไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามคำฟ้อง คำให้การฟังยุติว่าโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอ้อยกัน ซึ่งในเรื่องการชำระเงินค่าอ้อยที่ซื้อขายกันนั้น มีข้อความในสัญญาข้อ 1 ตอนท้ายว่า “และผู้ขายได้รับราคาดังกล่าวแล้วไปจากผู้ซื้อเสร็จแล้วแต่วันที่ 8เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 ในราคาไร่ละ 5,000 บาท รวมที่ 50 ไร่เป็นเงินประมาณ 250,000 บาท” และมีข้อความในสัญญาข้อ 3 ว่า”ผู้ขายและผู้ซื้อทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันซื้ออ้อยสด ในราคาไร่ละ5,000 บาท เมื่อตัดอ้อยส่งเข้าโรงงานเรียบร้อยแล้วผู้ซื้อจะต้องรีบนำเงินมาใช้ค่าอ้อยของผู้ขายในจำนวนที่ตกลงกันไว้” จะเห็นได้ว่าข้อความในสัญญาในเรื่องการชำระเงินค่าอ้อยนั้นระบุไว้เป็นการขัดแย้งกัน เมื่อข้อความในเอกสารไม่อาจจะรับฟังให้ยุติไปในทางใดได้เช่นนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีต้องนำสืบให้เห็นว่า แท้จริงเรื่องนี้ได้ตกลงกันไว้อย่างไร ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
สำหรับฎีกาประการสุดท้ายเรื่องสัญญาซื้อขายอ้อยมิได้ปิดอากรแสตมป์จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการฟ้องคดีได้หรือไม่นั้นคดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การจำเลยรับว่าได้ทำสัญญาซื้อขายกัน จึงไม่ใช่กรณีที่จะต้องใช้เอกสารเป็นพยานหลักฐาน ดังนั้นแม้สัญญาซื้อขายจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็ถือว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย
พิพากษายืน.