คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2358/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องขอให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินซึ่งอ้างว่าได้กระทำขึ้นโดยไม่สุจริตและฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้น จะต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2512 โจทก์ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางโกศล ทรงบำเรอ และในฐานะส่วนตัวเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดชลบุรี ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 247/2513 เรื่องผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาท ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยโอนที่พิพาทให้โจทก์ ถ้าโอนไม่ได้ให้คืนเงิน 20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ขณะคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายฝากที่พิพาทไว้กับจำเลยที่ 2 มีกำหนดไถ่คืนในระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม2517 ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่านางโกศลได้ตกลงจะขายที่พิพาทให้โจทก์จริง แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับโอนมรดกจากนางโกศลได้ขายฝากที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 แล้ว จึงบังคับให้โอนให้โจทก์ไม่ได้ ให้จำเลยคืนเงิน 20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ได้ไถ่ที่พิพาทคืน หลุดเป็นสิทธิของจำเลยที่ 2การซื้อขายที่พิพาทเป็นไปโดยไม่สุจริต เป็นการฉ้อฉลและยักย้ายทรัพย์เพื่อจะมิให้โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องได้รับการชำระหนี้เมื่อชนะคดี ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้โจทก์ ถ้าไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหาย 80,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 247/2513 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงเหตุที่ขอให้ศาลเพิกถอนการขายฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 247/2513 โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางโกศล จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นข้อกฎหมายว่า (1) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง (2) เป็นฟ้องซ้ำ และ (3) ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริง โจทก์จำเลยแถลงรับกันว่าที่พิพาทเดิมเป็นของโจทก์ได้ขายฝากไว้กับนางโกศลและขาด (มิได้ไถ่คืน) นางโกศลให้โจทก์ซื้อคืนในราคา 20,000 บาท โจทก์ได้ผ่อนชำระให้นางโกศลครบ 20,000 บาทนางโกศลตาย จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกได้ขายฝากที่พิพาทให้จำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2512 กำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี วันที่ 15 กรกฎาคม 2512โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอเรียกเงิน 20,000 บาทคืน และต่อมาได้ถอนฟ้องปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 260/2512 ของศาลจังหวัดชลบุรี วันที่ 25กันยายน 2512 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้โจทก์ถ้าไม่สามารถโอนได้ให้คืนเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 247/2513 วันที่ 21 เมษายน 2513 จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนการขายฝากจากจำเลยที่ 2 และขายฝากต่อมีกำหนด 1 ปี 6 เดือนในวันเดียวกันนั้น วันที่ 24 เมษายน 2513 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ขอใช้สิทธิของลูกหนี้ขอถอนการขายฝาก และต่อมาได้ถอนฟ้องปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 160/2513 คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 247/2512 ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 20,000 บาทคืนให้โจทก์

ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เกินกำหนด 1 ปีนับแต่ทราบเรื่องการขายฝากโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่ากระทำโดยไม่สุจริตและฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบโจทก์จะต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ได้ความว่าได้มีการทำนิติกรรมขายฝากที่พิพาท 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 25 กันยายน 2512กำหนดไถ่คืน 1 ปี ครั้งหลังวันที่ 21 เมษายน 2513 โดยจำเลยที่ 1 ไถ่คืนแล้วขายฝากใหม่ในวันเดียวกันนั้น กำหนดไถ่คืน 1 ปี 6 เดือน การขายฝากครั้งหลังเป็นการเพิ่มเงินและขยายเวลาไถ่คืน เป็นการขายฝากรายเดียวกันนั่นเอง เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2513 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ขอใช้สิทธิลูกหนี้ขอไถ่ถอนการขายฝากที่พิพาทตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 160/2513 ของศาลจังหวัดชลบุรี โดยอ้างถึงการขายฝากครั้งแรก จำเลยที่ 2 ได้กล่าวไว้ในคำให้การว่าจำเลยที่ 1 ได้ขอให้จำเลยที่ 2 ขยายเวลาไถ่ถอนการขายฝากต่อไปอีก 18 เดือน โจทก์ได้ยื่นคำแถลงในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม2513 ว่าได้ทราบหลักฐานการขยายเวลาขายฝากแล้ว ไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไปขอถอนฟ้อง ดังนี้เห็นได้ว่าถ้าการขายฝากรายนี้เป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์ก็รู้มาเกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว

พิพากษายืน

Share