แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และฐานร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำ ศาลชั้นต้นรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดคงรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องเช่นกัน แต่กรณีที่มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา กรณีถือว่าฎีกาของจำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาเฉพาะความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี เมื่อศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว สำหรับความผิดฐานร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำซึ่งมิใช่เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุก 8 เดือน อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และความผิดฐานนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 ก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดจึงให้ยกฟ้องปล่อยจำเลยไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 7 พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 4, 38, 39, 45, 58 ริบเมทแอมเฟตามีน หลอดแก้วใช้เป็นอุปกรณ์เสพยาเสพติด แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ชุดหูฟังโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสายชาร์จโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2475 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานร่วมกันเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 3,000,000 บาท ฐานร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำ จำคุก 1 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิตเพียงสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบเมทแอมเฟตามีน หลอดแก้วใช้เป็นอุปกรณ์เสพยาเสพติด แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ชุดหูฟังโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสายชาร์จโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ให้กระทงละหนึ่งในสาม ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 2,000,000 บาท ฐานร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำ จำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 33 ปี 12 เดือน และปรับ 2,000,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นหัวหน้าคลังสินค้าของบริษัทแลคตาซอย จำกัด สาขานครศรีธรรมราช และพักอาศัยอยู่กับครอบครัวที่อาคารคลังสินค้าเพียงครอบครัวเดียว โดยพนักงานคนอื่นพักอาศัยข้างนอก ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีพนักงานคลังสินค้าสี่คน คือ นายอภิชาติ พนักงานขับรถ นายวารินทร์ พนักงานขาย นายจักรพงศ์ ผู้ช่วยพนักงานขาย และนายณรงค์ชัย ผู้ช่วยพนักงานขายอีกคน ร่วมกันนำนมถั่วเหลืองยี่ห้อแลคตาซอยชนิดกล่อง ขนาด 300 ซีซี จำนวน 200 ลัง ลังละ 6 แพ็ค แพ็คละ 6 กล่อง บรรทุกรถบรรทุกสำหรับส่งสินค้าของบริษัทดังกล่าว หมายเลขทะเบียน 97 – 9024 กรุงเทพมหานคร ซึ่งดัดแปลงบริเวณกระบะด้านหลังเป็นตู้สำหรับบรรทุกสินค้า ไปส่งที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราชตามคำสั่งซื้อของร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังภายในเรือนจำ โดยมีนายธวัฒน์ เจ้าหน้าที่ประจำร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังซึ่งมีหน้าที่สั่งซื้อสินค้าและขับรถบรรทุกสินค้าออกไปรับรถและขับรถบรรทุกสินค้าจากบริเวณหน้าเรือนจำเข้าไปในเรือนจำเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิ่งของต้องห้ามก่อนรับสินค้า จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบเมทแอมเฟตามีนและสิ่งของต้องห้ามของกลางตามฟ้องรวม 10 รายการ ซุกซ่อนอยู่ในกล่องนม 10 กล่อง เบื้องต้นได้จับกุมนายอภิชาติ นายวารินทร์ นายจักรพงศ์ และนายณรงค์ชัย ดำเนินคดี ภายหลังมีการสั่งไม่ฟ้องบุคคลทั้งสี่ และมีการดำเนินคดีแก่จำเลยในเวลาต่อมา จำเลยเข้ามอบตัวให้การต่อสู้คดี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือไม่ ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ โดยเฉพาะจากนางสายไหม พนักงานบัญชีคลังสินค้าคนหนึ่งของบริษัทแลคตาซอย จำกัด ว่าปกติหน้าที่การส่งสินค้านมถั่วเหลืองแลคตาซอยให้แก่เรือนจำเป็นหน้าที่ของนายวุฒิศักดิ์ พนักงานขายคนหนึ่ง และเป็นคนรับคำสั่งซื้อจากเรือนจำให้ไปส่งในวันเกิดเหตุ แล้วมาแจ้งให้แก่พยานดำเนินการ พยานก็แจ้งแก่จำเลย แต่ในวันเกิดเหตุนายวุฒิศักดิ์ซึ่งเป็นมุสลิมลางานอ้างว่าไปปฏิบัติศาสนกิจเนื่องในวันฮารีรายอ ซึ่งสินค้านมถั่วเหลืองที่ส่งให้แก่เรือนจำในวันเกิดเหตุ เป็นสินค้านมถั่วเหลืองที่ส่งมาจากโรงงานผลิตจากจังหวัดปราจีนบุรีมาเก็บไว้ที่คลังสินค้าก่อนเกิดเหตุเมื่อวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2555 รุ่งขึ้นเป็นวันอาทิตย์ บริษัทหยุดทำการ ต่อมาวันจันทร์วันเกิดเหตุ ก่อนให้พนักงานขนสินค้านมถั่วเหลืองขึ้นรถไปส่งให้แก่เรือนจำ ได้มีการตรวจสอบสับเปลี่ยนสินค้าบางส่วน 2 ลัง ที่เสียหายแล้วอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่มีการแพ็คกิ้งหรือบรรจุหีบห่อใหม่ หลังเกิดเหตุก็ได้ความจากร้อยตำรวจตรีธนกฤต เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจค้นคลังสินค้าหลังเกิดเหตุว่า ผลการตรวจค้นยึดได้ถุงยางอนามัยจำนวนหนึ่งลักษณะเดียวกับที่พบในกล่องนมถั่วเหลืองที่พบของกลาง พร้อมกรรรไกร 1 เล่ม อยู่ในกระเป๋าสะพายใบหนึ่งที่มีนามบัตรของนายวุฒิศักดิ์บรรจุอยู่ และกล่องนมถั่วเหลืองแกะออกมาจากแพ็คอีกจำนวนหนึ่งที่ระบุวันผลิตวันเดียวกับกล่องนมถั่วเหลืองที่พบของกลางวางอยู่ใกล้ ๆ กันภายในคลังสินค้า ประกอบกับได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยเจือสมกันว่า ผู้ถือกุญแจปิดเปิดคลังสินค้าไม่ใช่มีจำเลยคนเดียว แต่มีพนักงานบัญชีคลังสินค้าที่ชื่อนางสาววิระญา อีกคนด้วย ทั้งการดำเนินคดีแก่จำเลยหลังเกิดเหตุก็ไม่แน่นอน เบื้องต้นได้รับการสอบสวนถ้อยคำจำเลยในฐานะพยาน เพิ่งมาแจ้งข้อหาดำเนินคดีจำเลยเป็นผู้ต้องหาภายหลังนานร่วมเดือน จำเลยเข้ามอบตัวต่อสู้คดีตั้งแต่ต้น พยานโจทก์แต่ละปากก็ไม่ได้เบิกความให้ถ้อยคำว่าจำเลยหรือผู้ใดกระทำความผิดหรือร่วมกระทำความผิดกับจำเลย แต่กลับได้ความจากคำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของนายสุจิต พยานโจทก์เองว่า เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เชื่อว่าไม่ได้เกิดจากผู้ใดกระทำจากภายในคลังสินค้า แต่หากจะมีการจัดทำก่อนหน้าที่จะมาถึงคลังสินค้า เห็นได้ชัดว่าตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่สามารถบ่งชี้ได้แน่ชัด เป็นไปได้หลายทาง ลำพังแต่จำเลยและครอบครัวจำเลยพักอาศัยอยู่ในคลังสินค้าครอบครัวเดียว และมีสินค้านมถั่วเหลืองตั้งวางเตรียมที่จะนำขึ้นรถไปส่งให้แก่เรือนจำเรียบร้อยแล้วก่อนนำขึ้นรถในวันเกิดเหตุ แล้วจะสรุปฟังว่าจำเลยกระทำความผิด ยังไม่ถนัดนัก นับว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัย ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย รับฟังได้ว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ส่วนความผิดฐานร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำซึ่งมิใช่เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุก 8 เดือน ซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อย แม้ความผิดฐานนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน และเมื่อศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิด จึงให้ยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ให้ริบของกลาง