คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2350/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามพ.ศ. 2530 กำหนดให้ไม้ตะเคียนหินในป่าท้องที่ทุกจังหวัดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้ออกประกาศให้กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตลอดเขตท้องที่ทุกจังหวัดดังปรากฏรายละเอียดตามสำเนาประกาศท้ายฟ้อง พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศแล้ว ในสำเนาประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้องซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องนั้น ปรากฏว่าประกาศดังกล่าวได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กรณีจึงเท่ากับว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าประกาศนั้นได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษามาพ้นเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศตาม มาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และเมื่อตามฟ้องของโจทก์ฟังได้ว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามาพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศแล้วพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับได้เป็นกฎหมายในขณะที่จำเลยกระทำความผิด แม้โจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาพร้อมกับฟ้อง ก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ไม่สมบูรณ์แต่ประการใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ เวลากลางวันจำเลยทั้งสองร่วมกันมีไม้ยางแปรรูปจำนวน ๔๔๘ ชิ้น ปริมาตรรวม ๒.๙๒ ลูกบาศก์เมตร และไม้ตะเคียนหินแปรรูปจำนวน ๒๔ ชิ้นปริมาตรรวม ๐.๒๙ ลูกบาศก์เมตร รวมปริมาตรไม้ทั้งสองชนิด ๓.๒๑ ลูกบาศก์เมตร อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไว้ในครอบครองในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เหตุเกิดที่ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา มีผู้นำเข้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมด้วยไม้แปรรูปดังกล่าวเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔,๗, ๔๘, ๗๓, ๗๔, ๗๔ จัตวา พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๙, ๒๘ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๔ พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๔ ริบของกลางและจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔, ๗, ๔๘, ๗๓, ๗๔, ๗๔ จัตวา ที่แก้ไขแล้ว ลงโทษจำคุกคนละ ๑ ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก คนละ ๖ เดือน ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะข้อ ๒.๑ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายส่วนข้ออื่นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงมีคำสั่งไม่รับ
ศาลฎีกาตรวจวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฏีกาของจำเลยทั้งสองซึ่งศาลชั้นต้นสั่งรับมาเพียงว่า ฟ้องของโจทก์สมบูรณ์หรือไม่โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า ประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรซึ่งกำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษามาพ้นเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศแล้วตามมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ นอกจากนี้โจทก์ไม่ได้ส่งพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งกำหนดให้ไม้ตะเคียนหินเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. มาพร้อมกับฟ้องด้วย ฟ้องของโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ พิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องว่า ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๓๐ กำหนดให้ไม้ตะเคียนหินในป่าท้องที่ทุกจังหวัดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้ออกประกาศให้กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตลอดเขตท้องที่ทุกจังหวัด ดังปรากฏรายละเอียดตามสำเนาประกาศท้ายฟ้อง พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศแล้ว ในสำเนาประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้องซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องนั้น ปรากฏว่าประกาศดังกล่าวได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๙๔ ลงวันที่ ๑๓พฤศจิกายน ๒๔๙๙ กรณีจึงเท่ากับว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าประกาศนั้นได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบิษามาพ้นเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศตามมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และเมื่อตามฟ้องของโจทก์ฟังได้ว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามาพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศแล้ว พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับได้เป็นกฎหมายในขณะที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด แม้โจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาพร้อมกับฟ้อง ก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ไม่สมบูรณ์แต่ประกานใด
พิพากษายืน

Share