คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 235/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลย 5 คนกลุ้มรุมทำร้ายซึ่งกันและกัน โดยจำเลยที่ 5 ได้รับบาดเจ็บรวม 5 รายการคือรายที่ 1 ถึง 3 เป็นรอยบวมช้ำโตกลมประมาณแห่งละ 4, 5 และ 3 เซ็นติเมตรตามลำดับ รายการที่ 4 เป็นรอยข่วน 3 แห่งยาวประมาณแห่งละ 3 เซ็นติเมตร และรายการที่ 5 ฟันล่างด้านหน้าโยก 1 ซี่อันเป็นผลเนื่องจากการร่วมกันกลุ้มรุมทำร้ายของจำเลยที่ 1 ถึง 4 เช่นนี้แม้ไม่ปรากฏว่ามีโลหิตไหล แต่ก็เป็นบาดแผลบวมช้ำหลายแห่งและถึงกับฟันโยก อันส่อถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำอันรุนแรงกรณีถือว่าเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าในข้อหาทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 293, 83

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 83 ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 300 บาท และนอกนั้นคนละ 150 บาท

จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะในข้ออาการบาดเจ็บของจำเลยที่ 5 ว่าไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จึงควรมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 5 มีบาดแผลเนื่องจากถูกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทำร้ายรวม 5 รายการ รายการที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นรอยบวมช้ำเขียวโตกลมประมาณ 4, 5 และ 3 เซ็นติเมตรตามลำดับ รายการที่ 4 เป็นรอยข่วน 3 แห่งยาวประมาณแห่งละ 3 เซ็นติเมตร รายการที่ 5 ฟันล่างด้านหน้าโยก 1 ซี่ ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าถูกของแข็งรักษาประมาณ 10 วัน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ลักษณะของบาดแผลดังกล่าวนี้ เป็นผลเนื่องจากการกระทำอันรุนแรงของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งช่วยกันกลุ้มรุมทำร้ายจำเลยที่ 5จึงได้มีบาดแผลบวมช้ำถึงหลายแห่งและถึงกับทำให้ฟันโยกด้วย แม้จะไม่ปรากฏว่ามีโลหิตไหล แต่ก็ต้องรักษาตัวถึง 10 วันจึงหาย พฤติการณ์แห่งการกระทำอันรุนแรงของจำเลยประกอบกับลักษณะบาดแผลดังกล่าว ถือได้ว่ากระทำให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294 ฎีกาจำเลยข้ออื่นฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share