แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจับงูเห่ากัดผู้ตายตายโดยเจตนา จำเลยจะผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนานั้น โจทก์จะต้องสืบให้ได้ความว่างูเห่านั้กัดผู้ใดแล้ว ผลธรรมดาอันควรเกิดขึ้นแลน่าจะเกิดขึ้นก็คือผู้นั้นจะถึงแก่ความตาย เมื่อโจทก์ไม่สืบและข้อเท็จจริงกลับฟังได้ว่า จำเลยกระทำไปโดยมีความเชื่อมั่นว่าผู้ตายซึ่งได้รับการสัก(จากจำเลย) แล้วถูกงูเห่ากัดจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งพะยานโจทก์กลับว่าถ้ารักษาดีหรือกินยาก็หายได้ ดังนี้ยังลงโทษจำเลยฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจับงูเห่าซึ่งเป็นงูพิษสามารถกัดคนตายได้ เหวี่ยงไปที่นายมีโดยเจตนาจะฆ่านายมีให้ตาย งูเห่ากัดนายมีที่ข้อมือซ้าย ๓ แผล นายมีถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย ขอให้ลงโทษ
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเชื่อว่าจำเลยจับงูเห่าให้กัดนายมีตายจริงแต่เห็นว่าจำเลยไม่ได้ประสงค์ต่อผลหรือคาดเห็นผลแห่งการกระทำได้ เพราะงูที่มีพิษกัดคนนั้นหาใช่ว่าผู้ถูกกัดจะต้องตายเสมอไป ทั้งไม่มีประจักษ์พะยานโจทก์ว่าถ้าเป็นงูเห่ากัดคน ๆ ต้องตายทุกรายไป จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา พิพากษาจำคุกจำเลย ๖ ปี ตาม ก.ม. อาญา ม.๒๕๑
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นว่าจำเลยจับงูเห่าให้กัดนายมีถึงแก่ความตาย แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าแม้จำเลยจะเชื่อว่าเมื่อสักแล้วงูเห่ากัดไม่ตาย ซึ่งเป็นความเชื่อในสิ่งที่ไม่สามารถจะพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ดังสวิญญูชนทั้งหลายจะพึงเชื่อถือความเชื่อของจำเลยอ้างแก้ตัวไม่ได้ พฤติการณ์ที่จำเลยกระทำฟังได้ว่าจำเลยกระทำโดยตั้งใจและประสงค์ต่อผลหรืออาจแลเห็นผลแห่งการที่กระทำนั้นได้ชื่อว่ากระทำโดยเจตนาตาม ก.ม.อาญา ม. ๔๓ ตอน ๒ พิพากษาแก้ให้จำคุก จำเลย ๑๕ ปี ตาม ก.มอาญา ม. ๒๔๙
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยจับงูเห่าให้กัดนายมีถึงแก่ความตายจริง และเห็นว่าจำเลยกระทำไปโดยมีความเชื่อมั่นว่านายมีผู้ตายซึ่งได้รับการสัก(จากจำเลย)มาแล้วถูกงูเห่ากัดจะไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงได้ทดลองให้งูเห่ากัดนายมีเพื่อให้นายเย็นกับพวกดู ทั้งโจทก์มิได้สืบว่างูเห่ากัดผู้ใดแล้ว ผลธรรมดาอันควรเกิดขึ้นและน่าจะเกิดขึ้นก็คือ ผู้นั้นจะถึงแก่ความตาย กลับได้ความตามพยานโจทก์ว่าถ้ารักษาดีหรือกินยาก็หาย จึงไม่พอฟังลงโทษจำเลยฐานฆ่าค่นตายโดยเจตนาได้
พิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ให้บังคับคดีลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้น